ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

สิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา ตามกฏหมายอาญา



             ในคดีอาญานั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเสมอว่า "ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม หรือจำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาล ไม่มี ความผิด จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลที่ถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำความผิดจริง"  เพราะฉะนั้นแล้ว ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินออกมา ผู้ต้องหา หรือจำเลยก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่  ดังนั้นการที่เรารีบด่วนไปตัดสิน ประนาม ด่าทอ หรือสาปแช่งว่าเป็นคนชั่วช้าเลวทรามในสังคม เพียงเพราะได้ข้อมูลจากคำบอกเล่าจากคนอื่น จากข่าวสาร แล้วทำการด่วนสรุปไปว่าได้ทำความผิด จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ถูกจับ หรือจำเลย  และในปัจจุบันเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ได้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนหนึ่งได้ถูกจองจำโดยผลของกฎหมาย โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำความผิด  ดังนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะถูกตัดสินว่า เป็นผู้ทำความผิด เราก็ควรที่จะให้โอกาสให้เขาเหล่านั้นใช้สิทธิของตนเองที่มี ในการที่จะต่อสู้คดีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตัวเองเสียก่อน
 
       "คนที่ถูกหาว่าทำผิด อาจจะไม่ได้ทำความผิด และคนที่ถูกศาลตัดสินให้ต้องโทษจองจำ ก็อาจเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เคยทำความผิดมาเลยในชีวิต"   คำกล่าวที่ว่ามานี้ ก็มีสาเหตุมาจากการที่บ้านเมืองของเราในยุคสมัยนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไป ความซับซ้อนในความคิด และพฤติกรรมของคนเราที่แสดงออกมา ก็ไปไกลเกินกว่าเรื่องของความผิดชอบชั่วดีธรรมดาๆ ที่ในยุคสมัยหนึ่งสามารถนำมาใช้อย่างได้ผล แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนี้แล้ว เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องเงินทอง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถสนองความต้องการได้ดีกว่า กลับมามีอิทธิพลเหนือความถูกต้องชั่วดี   ดังนั้นแล้ว คนที่คิดว่าเป็นคนดี หรือเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีอำนาจกฎหมายอยู่ในมือ ในบางครั้งก็สามารถทำเรื่องที่ไม่ดีไม่งามได้เช่นกัน อย่างที่เป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ   เช่นนั้นแล้ว เมื่อท่านไปพบเห็นผู้ต้องหา หรือจำเลยคนหนึ่งอยู่ต่อหน้า ท่านจะตัดสินได้อย่างไรว่า เขาได้เป็นผู้ทำความผิด
   
      ดังนั้น ก่อนที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยคนใด จะถูกตัดสินว่าได้เป็นผู้ทำความผิดแล้ว  เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งในสังคม ก็ควรที่จะให้ความเป็นธรรมกับเขา ในการที่จะได้รับสิทธิ โอกาส หรือกระบวนการอย่างใดๆ ที่ยุติธรรม ในการพิสูจน์ความถูกผิดของเขาเหล่านั้นนั้นเสียก่อน  ซึ่งในปัจจุบันนี้ ก็ถือว่ายังพอมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง ที่ยังมีคนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ โดยมีการเขียนกฎหมายเข้ามารองรับและคุ้มครองผู้ต้องหา หรือจำเลยเอาไว้  คือ
      กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 มีใจความว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด"   และในส่วนท้ายก็ได้กำหนดเอาไว้ด้วยว่า "ก่อนมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ที่แสดงว่าบุคคลใดได้ทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้"

      แม้กฎหมายสูงสุดจะได้รับรองคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา หรือจำเลยเอาไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเรามามองถึงการปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายแล้ว กลับพบว่า ในบางกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายรับรองเอาไว้แต่อย่างใด และที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นไปกว่านั้น ผู้ที่ละเลย หรือฝ่าฝืนนั้น กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องเสียเอง  ดังที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ  เช่น การนำผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าวต่อหน้ามวลชน แล้วทำการติดป้ายประจาน เพื่อให้คนอื่นเห็นว่า ผู้ต้องหาชั่วช้า หรือไม่ใช่มนุษย์มะนาอะไรอย่างนั้น  ส่วนผู้ที่ทำก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่ได้ทำลงไปนั้น ก็เป็นการทำความผิดเช่นกันนะครับ

      ทีนี้เรามาดูเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา หรือสิทธิของจำเลย ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาให้ดียิ่งขึ้น
   
      1.สิทธิในการแจ้งให้ญาติ หรือเพื่อน หรือคนที่ไว้วางใจ ทราบถึงการถูกจับกุม และสถานที่ที่ถูกจับกุม

         เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ เพราะว่าในขณะที่ถูกจับ ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุม คงไม่สามารถติดต่อกับใครได้โดยสะดวก เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะมีความจำเป็นต้องยึดเครื่องมือติดต่อสื่อสารของผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับกุมไว้ก่อน เพื่อทำการตรวจสอบ หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดต่างๆ ได้ ดังนั้นหากญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักที่ผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับไว้วางใจ ได้ทราบว่า ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ถูกจับกุมอยู่ที่ไหน ถูกจับกุมในเรื่องอะไร ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของความห่วงใยจากญาติพี่น้อง ที่ยังสามารถรับรู้ถึงเรื่องราวและความเป็นไปของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาได้  และจะเป็นประโยชน์ในส่วนของการร้องขอประกันตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการจัดเตรียมหลักทรัพย์ หรือเอกสารต่างๆ ในการขอประกันตัวต่อสู้คดี

      2.สิทธิในการพบ และปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว

         สิทธิดังกล่าว เป็นสิทธิเฉพาะตัวขอผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ที่จะพบหรือไม่ก็ได้   เหตุที่มีการกำหนดสิทธิในเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาที่ถูกจับนั้น อาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องของกฎหมาย ไม่รู้ว่าความผิดที่ตนเองถูกกล่าวหานั้น เป็นความผิดอย่าไร ต้องต่อสู้หรือให้การต่อเจ้าหน้าที่อย่างไร  ซึ่งหากผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาให้การไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ เช่น ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม  โดยกล่าวหาว่าได้ใช้มีดทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่าผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ได้ใช้มีดทำร้ายผู้อื่นจริง แต่เหตุที่เกิดขึ้นเพราะว่าคนอื่นนั้นได้เข้ามาทำร้ายผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาก่อน  ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา จึงได้ใช้มีดฟันออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาทำร้ายตนเองก่อนเท่านั้น   หากข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้จริง ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาก็อาจจะไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายก็ได้  ซึ่งหากผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไม่รู้ กลับไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนเองเป็นคนใช้มีดฟันผู้อื่นจริง
โดยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองเอาไว้เลย อย่างนี้ก็จะเป็นการรับสารภาพว่าเป็นผู้ทำความผิดจริง และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล  ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา คงต้องได้รับโทษอันไม่สมควรจะได้รับ เหตุก็เนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมายนั่นเอง

     3. สิทธิในการให้ทนายความ หรือผู้ที่ตนเองไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นพนักงานสอบสวน

        สิทธินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาเช่นกัน ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา จะขอใช้สิทธิให้ทนายความของตัวเอง หรือคนที่ตัวเองไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำของตนเองได้เสมอ หากไม่มีทนายความ ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา สามารถที่จะร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะจัดหาทนายความให้  เหตุที่ได้มีการกำหนดสิทธินี้ขึ้นมา เนื่องจากต้องการให้การสอบปากคำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปด้วยความถูกต้อง ยุติธรรม ไม่ถูกหลอกลวง บังคับ หรือขู่เข็ญใดๆ จากเจ้าหน้าที่
   
     4.สิทธิในการได้รับการเยี่ยม หรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

        สิทธินี้เป็นสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา และเป็นสิทธิของญาติๆ ของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ที่จะต้องสามารถติดต่อเยี่ยมเยือน สอบถามถึงความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาได้   เหตุที่กำหนดเรื่องของสิทธินี้ขึ้นมาก็เนื่องมาจากตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาเอง ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีเลือดมีเนื้อ มีความนึกคิด มีความรักความผูกพันซึ่งกันและกัน การทำความผิดของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้น อาจจะเกิดขึ้นจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือเนื่องจากความประมาทเลิ่นเล่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะให้อภัยกันได้
       ในการติดต่อเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหานี้ สามารถทำได้แต่ต้องเป็นไปตามวันและระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดเอาไว้  ซึ่งหากไม่ทราบก็ควรที่จะติดต่อสอบถามเบื้องต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลา


     5.สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว  เมื่อเกิดการเจ็บป่วย

        สิทธินี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ที่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา จะต้องได้รับ เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาในระหว่างที่ถูกจับกุมตัวอยู่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่จะต้องดำเนินการจัดส่ง หรือทำการรักษาพยาบาลในเบื้องต้น เพื่อที่จะทำให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา หายเจ็บป่วยโดยเร็ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาร้องขอ
   
        สิทธิดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ที่มีตามกฎหมาย  ดังนั้นกฎหมายจึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามา ในการแจ้งสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ให้กับผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาได้ทราบ เพื่อจะได้เข้าใจ และรู้ถึงถึงสิทธิของตัวเอง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการใดๆ ต่อไป



       ที่มา : http://www.chawbanlaw.com/bq_law/folder_bg_2/bkg_2_4.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น