ความทรงจำ

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กฏหมายคืออะไร


กฎหมายคืออะไร 

                คำจำกัดความของ “กฎหมาย” หมายถึงคำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์  ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นผู้ใดฝ่าฝืน มีสภาพบังคับ

ลักษณะของกฎหมาย

                เมื่อได้ทราบความหมายของกฎหมายแล้ว  กฎหมายต้องมีลักษณะ  ๕ ประการดังนี้

               1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ

                    หมายความว่า  กฎหมายนั้นต้องอยู่ในรูปของคำสั่ง  คำบัญชา  อันเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับ  เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ  มิใช่เป็นการประกาศชวนเชิญเฉย ๆ  เช่น  ในสมัย  จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี  รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนคนไทยให้สวมหมวก  เลิกกินหมากและให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน  ประกาศนี้แจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนิยมให้ประชาชนปฏิบัติอย่างไร  มิได้บังคับจึงไม่เป็นกฎหมาย

                2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ 

                   รัฎฐาธิปัตย์คือ  ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน  โดยที่ไม่ต้องฟังอำนาจจากผู้ใดอีก  ดังนี้รัฎฐาธิปัตย์จึงไม่ต้องพิจารณาถึงที่มาหรือลักษณะการได้อำนาจว่าจะได้อย่างไร  แม้จะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตามถ้าหากคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่สามารถออกคำสั่ง  คำบัญชาในฐานะเป็นกฎหมายของประเทศได้

                3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป

                    หมายความว่า  กฎหมายต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป  ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง  หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดปฏิบัติตามเท่านั้น  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุ  เพศ  หรือฐานะอย่างไรก็ตกอยู่ภายใต้ของการใช้บังคับกฎของกฎหมายอันเดียวกัน  (โดยไม่เลือกปฏิบัติ)  เพราะบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน  แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคล  หรือวางความรับผิดชอบให้แก่คนบางหมู่เหล่า  แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าใช้บังคับทั่วไปอยู่เหมือนกัน  เพราะคนทั่ว ๆ  ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ

                    สาระสำคัญอีกประการหนึ่งคือ  กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอกไป (CONTINUITY) จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือถูกยกเลิก  หากไม่มีการยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ได้เสมอ  ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “กฎหมายนอนหลับบางคราวแต่ไม่เคยตาย” (THELAW  SOMETIMESSLEEP, NEVER DIE)

                4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม

                    แม้การปฏิบัติบางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติ  แต่หากเป็นคำสั่ง  คำบัญชาแล้ว  ผู้รับคำสั่ง  คำบัญชา  ต้องปฏิบัติตาม  หากขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดสภาพบังคับของกฎหมาย  อันเป็นผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น  และเป็นที่พึงเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติตามกฎหมายได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย

                   อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่สัตว์  แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมมิให้สัตว์ก่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนรำคาญแก่มนุษย์  ดังนี้กฎหมายจึงกำหนดความรับผิดไว้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตามสมควร  จึงมิใช่เป็นการออกคำสั่ง  คำบัญชาแก่สัตว์  แต่เป็นการควบคุมโดยผ่านทางผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น  ตัวอย่างเช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 433  บัญญัติว่า  “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ  จำต้องใช้คำเสียหายทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย”

                5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ

                    เพื่อให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์  และประชาชนเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงต้องมีสภาพบังคับ  (SANCTION) สภาพบังคับของกฎหมายนั้นแบ่งเป็นสภาพบังคับในทางอาญาและทางแพ่ง

                    สภาพบังคับให้ทางอาญาโดยทั่วไปแล้ว  คล้ายคลึงกัน  คือ หากเป็นโทษสูงสุดจะใช้วิธีประหารชีวิต  ซึ่งปางประเทศให้วิธีการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า  แขวนคอ  แต่ประเทศไทยในปัจจุบันให้นำไปฉีดยาให้ตายใช้วิธีประหารด้วยวิธีอื่นไม่ได้  นอกจากนั้นก็เป็นการจำคุก  เป็นการเอาตัวนักโทษควบคุมในเรือนจำ  ซึ่งต่างกับกักขังเป็นการเอาตัวไปกักไว้ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ  เช่นที่อยู่ของผู้นั้นเอง หรือสถานที่อื่นที่ผู้ต้องกักขังมีสิทธิดีกว่าผู้ต้องจำคุก  สำหรับกฎหมายไทยโทษกักขังจะใช้เฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดครั้งแรก  และความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน  ศาลจึงจะลงโทษกักขังแทนจำคุกได้  ส่วนการปรับคือ  ให้ชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล

                    การริบทรัพย์สิน  คือ  การริบเอาทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน  เช่น  ปืนที่เตรียมไว้ยิงคน  หรือเงินที่ไปปล้นเขามา  นอกจากการริบแล้วอาจสั่งทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้

                    สภาพบังคับในทางแพ่งก็ได้แก่  การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ  ตัวอย่างเช่น  การซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ  และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตกเป็นโมฆะ  การทำนิติกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี  เป็นการพ้นวิสัยก็ดี  เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี  ตกเป็นโมฆะ   การให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจากการไม่ชำระหนี้  การให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกละเมิด




คำนำหน้านามของหญิง

พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551
              ประกาศใช้แล้วกฎหมายคำนำหน้านามหญิง สาวแต่งงานแล้วเฮ! เลือกใช้'นาง' หรือ'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ พวกเป็นหม้ายก็กลับไปชื่อ'นางสาว'ได้เหมือนเดิม   พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง   พ.ศ. 2551 ประกาศใช้แล้วเมื่อ  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะทำให้หญิงซึ่งแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถที่จะเลือกใช้'นาง'หรือ'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ และหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว   อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120  วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณ  วันที่ 4 มิถุนายน 2551
ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่การใช้คำนำหน้านามของหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วต้องใช้คำนำหน้านามว่า'นาง'คำเดียว โดยมิอาจเลือกได้ตามความสมัครใจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อหญิงดังกล่าวในการดำรงชีวิตประจำวันอาทิ การประกอบอาชีพ การศึกษาของบุตร และการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้การใช้คำนำหน้านามในลักษณะดังกล่าวของหญิงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ สมควรกำหนดให้หญิงมีทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจซึ่งเป็นการสอดคล้องกับการเลือกใช้นามสกุลตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล
สำหรับรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้มีดังนี้
             มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑'
             มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
              มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
              มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”
              มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง' หรือ 'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
              มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
              มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามตามพระราชบัญญัตินี้

          ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๕ ก.พ.๕๑ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลบังคับใช้ ๔ มิ.ย.๕๑ ครับ


ค่าสินไหมทดแทน


              การดำเนินคดีในศาลแบ่งเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา คู่กรณีต้องการให้ลงโทษผู้กระทำผิดหรือสร้างความเสียหายแก่ตน คดีแพ่งและคดีอาญามีการลงโทษแตกต่างกัน คือ คดีอาญาจะเน้นการลงโทษที่ร่างกายของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก เช่น โทษประหารชีวิต จำกัดอิสรภาพหรือพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือครอบครัว เป็นต้น ส่วนคดีแพ่งจะเน้นลงโทษโดยการบรรเทาหรือชดใช้ความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เช่น จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หรือ บังคับทางทะเบียน เป็นต้น

             ดังนั้น การเลือกดำเนินคดีทางใดนั้น ผู้ฟ้องคดีต้องพิจารณาก่อนว่า ต้องการให้ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างไร พฤติกรรมเป็นเหตุให้ฟ้องคดีนั้นเข้าองค์ประกอบทางแพ่งหรือทางอาญา ศาลจะลงโทษไม่เกินกว่าที่ร้องขอหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย

              กรณีคดีแพ่งซึ่งจะลงโทษด้วยการให้ชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดนั้น ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องได้และได้รับจริงไม่เท่ากับที่ร้องขอไป หลายคนสงสัยว่าเหตุใดศาลจึงไม่ให้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ร้องขอ ศาลมีอำนาจเพิ่มหรือลดค่าเสียหายได้หรือไม่

คำตอบมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

ข้อบัญญัติเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายกำหนดชัดว่าเป็นอำนาจของศาลจะใช้ดุลพินิจว่าค่าสินไหมทดแทนควรเป็นเท่าไร แต่ต้องไม่เกินกว่าคำฟ้องหรือร้องของโจทก์ อีกทั้งยังบอกด้วยว่าค่าสินไหมทดแทนได้แก่ การคืนทรัพย์สิน การใช้ราคาทรัพย์สิน และ ค่าเสียหายรูปแบบอื่นที่ใช้บังคับชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งอาจมิใช่เงินก็ได้ หลายครั้งจักเห็นคำสั่งศาลให้ผู้แพ้คดีต้องจ่ายเงินค่าลงประกาศขอโทษทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆเมื่อแพ้คดีละเมิดหรือหมิ่นประมาท ซึ่งกระทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลเพื่อชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดทางแพ่ง

กรณีการเรียกค่าเสียหายที่หลายคนสงสัยว่า เหตุใดร้องขอไปจำนวนหนึ่ง แต่ศาลอาจให้น้อยกว่าที่ร้องขอก็ได้ คำตอบคือ การพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่วินิจฉัยตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่รับฟังจากการพิจารณาคดีซึ่งโจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ได้รับความเสียหายอย่างไร มากน้อยเพียงใด ตัวเลขที่ร้องขอสมเหตุสมผลกับข้อเท็จจริงอย่างไร

                ส่วนจำเลยมีสิทธิ์โต้แย้งค่าเสียหายนี้ได้ด้วยการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างกับโจทก์ ศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่โจทก์และจำเลยอย่างเสมอภาค หากศาลเห็นว่าโจทก์ร้องขอมากเกินสมควร ย่อมมีสิทธิ์ลดจำนวนเงินลงได้ หลายครั้งจึงมักเห็นว่าโจทก์ร้องขอค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท แต่ศาลอาจตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเพียงหลักแสนบาทก็ได้ถ้าเชื่อว่าความเสียหายของโจทก์ไม่มากอย่างที่ยื่นขอไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐาน  พิสูจน์ของโจทก์และจำเลยเป็นหลัก ส่วนใหญ่คดีแพ่งนั้นโจทก์มักเรียกค่าเสียหายจำนวนสูงไว้ก่อน เพราะศาลจะเป็นผู้กำหนดค่าเสียหายในคดีดังกล่าว ข้อสังเกตสำหรับการฟ้องคดีแพ่งคือ ยิ่งผู้เสียหายเป็นคนหรือบริษัทมีชื่อเสียงมากเพียงใด ค่าเสียหายที่จักได้รับหากชนะคดีต้องสูงขึ้นไปด้วยเหตุมูลค่าของชื่อเสียงนั่นเอง สิ่งพึงระลึกให้มั่นในใจคือ จงหลีกเลี่ยงการมีคดีในศาลไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา เพราะนอกจากแพ้คดีแล้วต้องจ่ายค่าสินไหมจำนวนสูง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะท่านต้องจ่ายค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมดำเนินคดีในศาล ค่าใช้จ่ายจิปาถะ จนกว่าคดีสิ้นสุด สิ่งสุดท้ายที่มักลืมคิดถึง คือ ค่าเสียเวลาไปขึ้นศาล ///.


อายุความ


อายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
             บัญญัติเกี่ยวกับอายุความว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นอันขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่ขาดอายุความแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ทั้งนี้อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายเวลาออกไปหรือย่นเข้ามาไม่ได้    อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป กล่าวคือ กำหนดของอายุความให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เวลาที่สามารถหรือที่จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิดังกล่าว แต่ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เริ่มนับระยะเวลาสำหรับอายุความ ตั้งแต่เวลาแรกที่มีการฝ่าฝืนต่อการกระทำนั้น หมายถึง กรณีสิทธิเรียกร้อง ที่ไม่ให้กระทำการใดๆ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการที่ห้ามนั้น เมื่อรู้ถึงการกระทำดังกล่าว อายุความที่จะฟ้องร้องตามสิทธิเริ่มต้น ตั้งแต่เวลาที่เริ่มกระทำการฝ่าฝืนดังกล่าว
ส่วนสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ ยังไม่อาจที่จะบังคับตามสิทธิได้ จนกว่าเจ้าหนี้จะได้มีการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้เสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาที่เจ้าหนี้สามารถที่จะทวงถามการชำระหนี้เป็นต้นไป แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ ลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้ จนกว่าจะผ่านระยะเวลาหรือห้วงเวลาหนึ่งไปแล้วอายุความนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปีสิทธิเรียกร้องของรัฐ ที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี

               สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความสิบปี ไม่ว่าสิทธิเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใดสิทธิเรียกร้อง สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระ เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ เงินค้างจ่าย เช่น เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่นๆลักษณะทำนองเดียวกัน ที่มีการจ่ายเป็นระยะเวลาและสิทธิเรียกร้องของ ผู้ประกอบการค้าเพื่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบเกษตรกรรม ผู้ขายสลากกินแบ่งหรือที่คล้ายคลึงกัน (ตาม ปพพ. ม.193/34(1)(2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี ) ให้มีอายุความห้าปี
               สำหรับสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวกับการเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบ ค่างานที่ได้ทำ ค่าขนส่ง ค่าโดยสาร ค่าลูกจ้าง ค่าครูอาจารย์ ฯลฯ ตาม ปพพ. ม.193/34 ให้มีอายุความสองปีกรณีสิทธิเรียกร้อง บังคับชำระหนี้ ของผู้รับจำนำ จำนอง ผู้ทรง สิทธิยึดหน่วง ผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ อันตนยึดถือไว้ แม้อายุความหนี้ประธานจะขาดอายุความ และการชำระหนี้ ตามสิทธิที่ลูกหนี้ ไม่รู้ถึงการขาดอายุความ และการรับสภาพหนี้เป็นหนังสือ ใช้สำหรับการฟ้องร้อง ให้มีอายุความสองปี
อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
        1. ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ หรือการชำระหนี้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัย แสดงให้เห็นโดยปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ดังกล่าว
        2. เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานตามสิทธิเรียกร้อง หรือเพื่อให้ชำระหนี้
        3. เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
        4. เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
        5. เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใด อันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี
เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับรวมเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น


กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค


กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค
                กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนในสังคม โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าและการใช้บริการ เช่น มนุษย์ต้องบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ต้องใช้บริการรถประจำทาง รถไฟฟ้า รวมทั้งบริการอื่น ๆเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น การใช้บัตรเครดิต โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ดังนั้นการบริโภคหรือการใช้บริการต่าง ๆจะต้องได้มาตรฐานและมีคุณภาพครบถ้วนตามที่ผู้ผลิตได้โฆษณาแนะนำไว้ ด้วยเหตุนี้ รัฐในฐานะผู้คุ้มครองดูแลประชาชน หากพบว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริโภคสินค้าและบริการจะต้องรีบ เข้าไปแก้ไขเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอยู่หลากหลายและกระจายตามประเภทของการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น
     1. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง เป็นหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณาสุข ที่ต้องเข้ามาดูแล
     2. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องเข้ามาดูแล
     3. กรณัที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจจัดสรรที่ดิน อาคารชุด เป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแล
     4. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับคุณภาพหรือราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ ที่ต้องเข้ามาดูแล
     5. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต เป็นหน้าที่ของกรมการประกันภัย กระทรวงพานิชย์ ที่ต้องเข้ามาดูแล
                  สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จัดเป็นกฎหมายเฉพาะที่ที่ไม่ซับซ้อนหรือขัดกับอำนาจหน้าที่ของหนาวยงานที่คุ้ทครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ ตามตัวอย่างข้างต้น เพระาหากเกิดกรณีจำเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบมิได้ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย ผู้เดือดร้อนสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งการแก้ไขแทนได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วนงานคุ้มครองด้านการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไป นอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานอื่น
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ได้บัญญัติสิทธิของผู้บรริโภคได้ 5 ประการคือ
     1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ เพื่อการพิจารณาเลือกซื้อสินค้่หรือรับบริการอย่างถูกต้อง ทำให้ไม่หลงผิดในคุณภาพสินค้าและบริการ
     2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการดดยปราศจากการชักจูงก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
     3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีที่ใช้ตามคำแนะนำของผู้ผลิต
     4) สิทธิที่จะได้รับการพิพจารณาและชดเชยความเสียหาย อันหมายถึง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
     5) เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรดำเนินการเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือต่อคณะกรรมการคุ้มครอวผู้บรืโภค

ผู้จัดการมรดก


 
              เมื่อมีมรดกก็ย่อมแสดงว่า มีทรัพย์สินที่จะต้องแบ่งให้กับทายาทของเจ้ามรดก โดยเมื่อพูดถึงการแบ่งทรัพย์มรดก บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ก็แค่แบ่งๆ กันไปตามส่วนสัดที่มีอยู่ หรือตามแต่จะตกลงกันเองในกลุ่มของทายาทกันเอง ที่ว่ามานี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆ ก็มักจะทำอะไรอย่างนั้นอยู่แล้ว  เช่น ในการแบ่งที่ดิน ทายาทผู้ที่มีความอาวุโสก็จะเป็นผู้จัดสรรแบ่งที่ดินตามส่วนสัด เรียงลำดับตามญาติพี่น้องลดหลั่นกันไป ผู้พี่ก็อาจจะได้รับจัดสรรค์ที่ดินในส่วนทิศเหนือ พี่ผู้รองก็อาจได้ส่วนกลาง ลดหลั้นลงมาเรื่อยๆ  ส่วนการแบ่งทรัพย์สินโดยทั่วไป เช่น เงิน ทอง รถ บ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งจะแบ่งง่ายเข้าไปใหญ่ และไม่ค่อยจะมีปัญหาตามมา เพราะเมื่อแบ่งกันอย่างไรแล้ว ก็ถือว่าเป็นอันยุติ ต่างคนต่างก็ทำมาหากินกันไป  โดยเฉพาะมรดกที่มี
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเพียงคนเดียว ก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่  เพราะถือว่า เป็นทรัพย์สินของพ่อแม่ที่จะต้องรักษาเอาไว้ มีอยู่อย่างไงก็เป็นอย่างนั้น
       แต่ว่าในเรื่องเดียวกัน สำหรับคนอีกคนหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่เหตุและปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นว่าเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งบางคนอาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี กว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ค่อยนำมาชี้แจงให้ทราบในภายหลังนะครับ
       ที่นี้เราก็มาดูถึงวิธีการการแบ่งมรดกกันบ้าง  ในการแบ่งมรดกที่เป็นทรัพย์สินโดยทั่วไปนั้น ส่วนมากมักจะไม่เป็นปัญหาสำหรับทายาท เพราะมีอะไรก็แบ่งๆกันไปอย่างที่เกริ่นกันมาข้างต้นแล้ว ส่วนที่เป็นปัญหาก็คือ ทรัพย์สินมรดกที่มีทะเบียน ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงชื่อในทะเบียนนั้นๆ อย่างเช่น ที่ดิน อาวุธปืน และรวมไปถึงเงินฝากของเจ้ามรดกที่มีอยู่ในธนาคาร  ทรัพย์สินมรดกเหล่านี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของเท่านั้นถึงจะมีสิทธิจัดการได้ แต่ปัญหาที่มีคือว่า เจ้าของทรัพย์สินที่ว่ามานั้น ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นเหตุให้ไม่มีใครสามารถจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้นได้ 
ดังนั้นในเรื่องนี้ กฎหมายก็ได้เข้ามาเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ ผ่านตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล โดยความยินยอมของทายาททุกๆ คน ซึ่งเราเรียกโดยทั่วไปว่า "ผู้จัดการมรดก" 
       ผู้จัดการมรดก  คือ  "ผู้มีหน้าที่ในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ให้กับทายาทของเจ้ามรดกผู้มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย"  จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  ผู้จัดการมรดกก็คือบุคคลธรรมดาคนหนึ่งนี่เอง ที่ได้รับแต่งตั้ง และมอบหมายหน้าที่ในการจัดการตามความจำเป็น เพื่อที่จะทำการจัดแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท  ฉะนั้นแล้วผู้จัดการมรดกนั้น จึงมีหน้าที่ในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเท่านั้น
       ดังนั้นแล้ว ตามความเข้าใจของชาวบ้านโดยทั่วไปที่ว่า "ผู้จัดการมรดก"  คือผู้มีอำนาจจัดการเอาทรัพย์มรดกมาเป็นของตัวเองคนเดียว หรือถ้าใครเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ก็มีสิทธิในทรัพย์มรดกที่มีอยู่นั้น ความเข้าใจที่ว่ามานี้ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
     การจะเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาล และก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ก็จะต้องมีการไต่สวนเสียก่อนว่า ผู้ที่ขอมีความสามารถดำเนินการได้ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น  ซึ่งในกรณีนี้ก็จะมีประเด็นของที่ไปที่มาของผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดก ได้ 2 ประการ  คือ
      
       1. เป็นบุคคลที่ผู้ทำพินัยกรรม (เจ้ามรดก) ได้ระบุชื่อเอาไว้ในพินัยกรรม ให้แต่งตั้งเป็นผู้จัดการ
มรดกของเจ้ามรดกเอง    ในกรณีนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ทำพินัยกรรมหรือเจ้ามรดก ได้แสดงเจตนาครั้งสุดท้ายไว้ก่อนตาย โดยได้ระบุตัวผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดกของตัวเองเอาไว้ก่อนตาย  ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเองเลยก็ได้ เช่น ทนายความ เพื่อนของเจ้ามรดก หรือตาสียายสาที่ไหนก็ได้  หรือจะเป็นญาติพี่น้อง หรือตัวทายาทคนใดคนหนึ่งก็ได้     เมื่อได้ระบุชื่อแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกเอาไว้ในพินัยกรรมแล้ว ก็จะต้องนำพินัยกรรมฉบับนั้นไปร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมดังกล่าว เป็นผู้จัดการมรดกอีกครั้งหนึ่ง ผู้นั้นถึงจะมีอำนาจดำเนินการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกได้ ตามกฎหมาย
       2. ทายาท  หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ         
         เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมระบุแต่งตั้งใครเอาไว้  ในกรณีแบบนี้ ทายาท หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์มรดกคนใดคนหนึ่ง สามารถร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องขอเป็นผู้จัดกามรดกได้  ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลก็จะทำการไต่สวนก่อนที่จะมีการแต่งตั้งเช่นกัน
         ส่วนในกรณีของพนักงานอัยการนั้น ก็สามารถร้องขอต่อศาลได้  แต่เป็นในกรณีที่ทายาท หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียไม่สามารถดำเนินการได้เอง  เช่น  ทายาทยังเป็นเด็ก  ทายาทเป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบ้า จึงทำให้ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ และทายาทที่ว่านั้น ก็ต้องไม่มีญาติพี่น้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นอีก หรือทายาทผู้รับมรดกได้สูญหายไปไหนไม่รู้  หรือเป็นเรื่องที่ทายาทไปอยู่นอกประเทศเสีย เป็นต้น 

       ผลของการไม่มีผู้จัดการมรดกนั้น  ชาวบ้านแถวๆ บ้านนอกก็จะบอกว่าไม่เห็นจะเป็นปัญหาอย่างไร ซึ่งก็น่าจะเป็นจริงดังที่ว่า  เพราะว่าชาวบ้านทั้งหลายนิยมที่จะแบ่งทรัพย์มรดกกันเอง  แบบพี่แบบน้อง  เช่น น้องรองเอาตรงนั้น น้องเล็กเอาทางนี้  ส่วนพี่ใหญ่หน่อยขอโน้นละกัน (ซึ่งอาจจะมากหน่อย) ซึ่งการแบ่งปันของชาวบ้านในสมัยก่อนก็ง่าย และเป็นธรรมด้วยกันทุกฝ่าย เมื่อแบ่งกันเสร็จสรรพต่างคนก็ต่างทำมาหากินกันไป ที่ใครก็ที่มัน   แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ทรัพย์สินต่างๆ ล้วนแต่มีค่ามีราคาแทบทั้งสิ้น  โดยเฉพาะทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินด้วยแล้ว นับว่ามีค่ามหาศาล ไม่ต้องพูดถึงถึงที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองและเป็นย่านการค้าขาย   ด้วยเหตุฉะนี้ปัญหาพี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ เพื่อแย่งทรัพย์มรดกจึงเกิดขึ้นในบ้านเราเมืองเรา อย่างที่เห็นๆกัน  นี่แหละเข้าเรียกว่า "ทุกข์ของคนมีกะตังค์



ที่มา : http://www.chawbanlaw.com/gkdq_law/folder_gkdg_9/gkdg_9_2.html

บุตรบุญธรรม



การจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม          
  บุตรบุญธรรม คือ บุตรที่ขอมาเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตรของตน
หลักเกณฑ์    
        ๑.ผู้รับจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี และจะต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะต้องเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี
        ๒.ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องได้รับความยินยอมจาก
                  – บิดาและมารดา หรือ
                  – บิดาหรือมารดา (กรณีมารดาหรือบิดาถึงแก่กรรม) หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือ
                  – ผู้แทนโดยชอบธรรมกรณีไม่มีบิดามารดา
        ๓.ผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ต้องลงนามให้ความยินยอมในการเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วย
        ๔.ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่
                 – คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ เช่น วิกลจริต หรือ
                 – ไปเสียจากภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้ข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี
        ๕.การรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมตาม พ.ร.บ. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยหนังสือแแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมที่กล่าวไว้ในข้อ ๒ และ ๔ ข้างต้น ณ ที่
                  ๑) ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมกรมประชาสงเคราะห์ กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือ
                  ๒) ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือประชาสงเคราะห์จังหวัด กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น
อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี จะให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม รับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูด้วยตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ก่อนอนุมัติให้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ยกเว้นกรณีผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กดังกล่าว
        ๖.ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอยู่แล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นในขณะอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรม ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
        ๗.พระภิกษุ จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้



ที่มา : http://www.scblu.com/?p=515