ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา


      ปัจจุบันเรามักมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางโทรทัศน์ว่า มีการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นประจำ โดยผู้กระทำเป็นผู้ใหญ่บ้างและเด็กบ้าง  ขณะเดียวกันผู้เสียหายอาจมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเช่นเดียวกัน การข่มขืนกระทำชำเรานั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 276 ซึ่งบัญญัติว่า  “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
     จะเห็นได้ว่า หลักกฎหมายของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอยู่ที่มาตรา 276 วรรค 1  ส่วนวรรค เป็นบทเพิ่มโทษ   ถ้าการกระทำความตามวรรคแรกของมาตรา 276  ได้กระทำโดยมีหรือให้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
     การข่มขืนกระทำชำเรา คือ การร่วมเพศโดยฝ่าฝืนต่อความยินยอมของหญิง หากหญิงยินยอมย่อมไม่เป็นความผิด เว้นแต่หญิงนั้นอายุยังไม่เกิน 15 ปี ถึงหญิงนั้นยินยอมก็เป็นผิดตามมาตรา 277  กรณีต่อไปนี้ไม่ถือว่าหญิงยินยอม เช่น หญิงกำลังหลับหมดสติ หรือเป็นคนวิกลจริต หรือคนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ หรือโดยการทำให้หญิงเข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นบุคคลอื่น เช่น ทำหญิงเข้าใจว่าตนเองเป็นสามีหญิงหรือคนรักของหญิง เช่น เพื่อนของคนรักหญิงมาร่วมงานเลี้ยงที่บ้านของหญิง และนอนค้างบ้านของหญิงด้วย ตกดึก เพื่อนของคนรักหญิงเห็นหญิงกำลังหลับจึงเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราหญิง โดยทำให้หญิงเข้าใจว่าเป็นคนรักของตนเอง เป็นต้น ส่วนแค่ไหนเพียงใดจึงจะถือว่าหญิงไม่ยินยอมนั้น ศาลอเมริกันถือว่าต้องมีการขัดขืนที่สุด (resist to the utmost) ต่อมาศาลได้ผ่อนคลาย หลักเกณฑ์ลงมาโดยเห็นว่าการขัดขืนเพื่อแสดงว่าไม่ได้ยินยอมไม่จำเป็นต้องขัดขืนถึงที่สุด การขัดขืนต้องเป็นไปตามสถานการณ์แต่ละกรณี เพราะถ้าหญิงขัดขืนมากจนเกินไป  หญิงอาจถูกผู้ข่มขืนกระทำชำเราฆ่าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการขัดขืนจะมีการกระทำอะไรที่มากกว่าการกล่าวปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมด้วยวาจาเท่านั้น ในขณะเดียวกันกรณีที่แพทย์กระทำชำเราคนไข้หญิงโดยทำให้หญิงเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่การร่วมเพศ ย่อมไม่ถือว่าหญิงให้ความยินยอมในการร่วมเพศ หากหญิงรู้ว่าการกระทำมีลักษณะเป็นการร่วมเพศ และหญิงถูกหลอกในมูลเหตุที่ทำให้หญิงยินยอม ย่อมถือว่าหญิงยินยอมในการร่วมเพศด้วย เช่น ชายหลอกคนรักว่าหากหญิงยอมหลับนอนจะให้พ่อแม่มาสู่ขอ หรือแต่งงานด้วย หญิงจึงหลับนอนกับชาย กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนความยินยอมของหญิง
     การกระทำชำเรา คือ การร่วมประเวณี หรือการกระทำร่วมเพศ คือ การที่ชายเอาอวัยวะเพศของตนเองสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง แม้เพียงเล็กน้อย และไม่จำเป็นต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิ ก็เป็นความผิดสำเร็จ
     ตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้กระทำต้องเป็นชาย และผู้ถูกกระทำต้องเป็นหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาของชาย หากหญิงเป็นภรรยาของชายและไม่ยอมร่วมเพศกับชายผู้เป็นสามี   สามีใช้กำลังบังคับข่มขืนกระทำชำเราภรรยา ชายผู้เป็นสามีไม่มีความผิด เรียกว่า marital exception หรือข้อยกเว้นความผิดอันเนื่องมาจากการสมรส ซึ่งกล่าวกันว่า เกิดจากข้อเขียนของ Sir Matthew Hale ซึ่งเป็นประธานศาลสภาขุนนางของอังกฤษ (Lord Chief Justice) ระหว่างปี ค.ศ. 1671 ถึง 1676 ที่ว่า
     (1) การที่หญิงแต่งงานกับชายย่อมหมายความว่าหญิงได้ให้ความยินยอมแก่สามีในการที่ร่วมเพศกัน  โดยความยินยอมนั้นไม่อาจเพิกถอนได้ (irrevocable consent to intercourse) 
     (2) ภรรยาถือว่าเป็นทรัพย์ (chattle) ของผู้เป็นสามี
     (3) สามีและภรรยาเป็นบุคคลเดียวกัน ดังนั้น สามีจึงไม่อาจข่มขืนกระทำชำเราตนเอง
     ตามกฎหมาย  แม้ชายจะไม่สามารถกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเองก็ตาม แต่ไม่ได้หมายว่าสามีไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเอง เช่น ชายสามีจับแขนขาของภรรยาของตนไว้ และให้ชายอื่นข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามิได้จำกัดว่าให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น   แม้จำเลยจะเป็นหญิงเมื่อฟังว่าสมคบร่วมกันก็ลงโทษเป็นตัวการได้  (ฎีกา 250/2510) นอกจากนี้ สามีหรือหญิงอื่นอาจเป็นผู้สนับสนุนในการที่ให้ความช่วยเหลือให้ชายอื่นมาข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนได้
     อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 0991  ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้ตัดสินยกอุทธรณ์ของชายผู้หนึ่งซึ่งถูกตัดสินโทษฐานพยายามข่มขืนภริยาของตนเองซึ่งแยกกันอยู่ในคดีนี้มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5 นาย  ได้ทำคำพิพากษา   โดยประธานศาลสภาขุนนางได้ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ที่กระทำชำเราผู้อื่นก็ยังคงเป็นผู้กระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอยู่ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงว่าผู้ข่มขืนกระทำชำเราจะมีความสัมพันธ์กับหญิงผู้เสียหายไม่ว่าในสถานะใด ๆ ก็ตาม ศาลยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่าหลักการที่มีอายุเก่าแก่หลายศตวรรษไม่ได้เป็นหลักกฎหมายเช่นว่านั้นอีกต่อไปแล้ว  เมื่อคำนึงถึงสถานะของหญิงในสมัยปัจจุบัน
      ในส่วนเจตนานั้น ผู้กระทำความผิดนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมาย ตามกฎหมายอเมริกัน ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามักบัญญัติว่าจำเลยต้องมีเจตนาเฉพาะ (specific intent) ที่จะข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งจำเลยอาจนำสืบว่าจำเลยไม่สามารถมีเจตนาเฉพาะที่จะข่มขืนกระทำชำเราได้ เนื่องจากจำเลยมึนเมาจากการเสพสุราด้วยความสมัครใจ แต่บางมลรัฐก็กำหนดว่าถ้าจำเลยมีเจตนาทั่วไป (general intent) ก็เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงโดยฝ่าฝืนความยินยอมของหญิงได้
      นอกจากนี้แม้หญิงจะยินยอมให้กระทำชำเรา ชายที่ชำเรากับหญิง โดยหญิงยินยอมก็เป็นความผิดได้ ถ้าหญิงมีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี และหญิงนั้นมิใช่ภริยาของชาย
      ปกติหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่น่าจะทำการสมรสได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  ซึ่งบัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์  แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร  ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้น”    เพราะฉะนั้นการที่หญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นภริยาชายอาจเป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นกรณีพิเศษตามข้อความตอนท้ายของมาตรา 1448นี้  และที่สำคัญหญิงต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาของหญิง แต่กฎหมายอเมริกา  ชายจะชำเราด้วยหญิงที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้เลยทีเดียวแม้หญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม  สำหรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำที่ชายไม่อาจกระทำชำเรากับหญิงนั้น เริ่มตั้งแต่16, 17 หรือ 18 ปี  สุดแล้วแต่กฎหมายของแต่ละมลรัฐกำหนดไว้  นอกจากนี้บางมลรัฐยังกำหนดว่าหญิงต้องเป็นหญิงพรหมจารี  ผลคือว่าหญิงที่เป็นเด็กไม่อาจให้ความยินยอมที่สมบูรณ์ในการร่วมเพศกับชาย  ซึ่งความผิดที่เกิดจากการที่ชายกระทำชำเราด้วยเด็กหญิงนี้มีชื่อเรียกว่า statutory rape บางมลรัฐถือว่าความผิด statutory rape  เป็นความผิดเด็ดขาด (strict liability)  กล่าวคือจำเลยไม่สามารถจะแก้ตัวว่าจำเลยไม่ทราบว่าหญิงมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  และถึงแม้จำเลยจะเข้าใจผิดว่าหญิงมีอายุเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม   หรือจำเลยจะใช้ความพยายามตามสมควรในการสอบถามอายุของหญิง และหญิงจะโกหกชายก็ตาม จำเลยก็มีความรับผิดตามกฎหมาย แต่ก็มีบางมลรัฐยอมให้ยกเอาความสำคัญในเรื่องอายุของหญิงขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้  แต่ก็เป็นแต่มลรัฐส่วนน้อย
      เหตุผลที่กฎหมายเอาผิดกับชายที่ชำเรากับหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี  ตามกฎหมายไทย  หรือตามกฎหมายอเมริกัน ซึ่งกำหนดอายุของหญิงไว้สูงกว่ากฎหมายไทย เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐไม่ประสงค์ที่จะให้ชายที่ร่วมเพศกับหญิงที่มีอายุยังน้อยและไม่รู้จักวิธีป้องกันมิให้เกิดการตั้งครรภ์อันเกิดจากการร่วมเพศ และกลายเป็นมารดาเด็กในขณะที่อายุยังเยาว์วัยโดยยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็นมารดาเด็ก  นอกจากนี้หากหญิงเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หญิงอาจหาทางออกด้วยการทำแท้งซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดาและตัวหญิงเอง  หากหญิงไปลักลอบทำแท้งกับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์หรือถึงแม้ผู้นั้นจะเป็นแพทย์ก็ตาม  แพทย์ก็ไม่มีสิทธิทำแท้งให้หญิงเพราะหากมีการทำแท้ง  แพทย์ผู้ทำแท้งรวมทั้งหญิงยอมให้ผู้อื่นที่ทำแท้ง ก็มีความผิดตามกฎหมายอาญา
      ตามกฎหมายอเมริกัน  หญิงซึ่งร่วมเพศกับเด็กชายอายุไม่เกิน 16 ปี ก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน  ดังนั้นความผิดฐาน Statutory rapeอาจเป็นกรณีที่ชายที่มีอายุมากกว่าหญิงร่วมเพศกับเด็กหญิงซึ่งยังเยาว์วัยหรืออาจเป็นกรณีหญิงที่มีอายุมากกว่าชายโดยชายเป็นเด็กชายอายุไม่เกิน 16ปี
      อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ห้ามการกระทำชำเรากับเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  โดยผู้ที่เห็นแย้งมีความเห็นว่ากฎหมายห้ามการชำเรากับเด็กหญิงมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตทางเพศในโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เห็นว่าการลงโทษผู้ที่ชำเรากับเด็กหญิงเป็นการขัดต่อเสรีภาพในการเลือกใช้สิทธิส่วนตัวของหญิงที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของวัยรุ่น  นอกจากนี้ยังมีการชี้ว่ามักไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายการห้ามชำเรากับเด็กหญิง  การบังคับใช้กฎหมายจะมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติตามกฎหมายการห้ามชำเรากับเด็กหญิง  การบังคับใช้กฎหมายจะมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติเนื่องจากสีผิวและชนชั้นในสังคม  ถึงกระนั้นก็ตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามชำเรากับเด็กหญิงก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
      เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองหญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา  มลรัฐต่าง ๆ ได้ตรากฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายเกราะคุ้มครองผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราหรือ rape shield law กฎหมายฉบับนี้ห้ามมิให้จำเลยนำสืบพฤติกรรมทางเพศของผู้เสียหายกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายก่อนที่มีการข่มขืนกระทำชำเรา  กฎหมายบางฉบับบังคับว่าพยานหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับความยินยอมของผู้เสียหายในคดีหรือไม่
      นอกจากมลรัฐต่าง ๆ ได้ตรากฎหมายที่เรียกว่า Megan’s Law  เพื่อเป็นการระลึกถึง Megan Kanda  เป็นเด็กหญิงอายุ ขวบ  ถูกข่มขืนและฆ่า ในปี ค.ศ. 1994  โดย Jesse Timmendeguas Jesse  มีประวัติการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กหลายครั้ง ประชาชนมลรัฐนิวเจอซี่ได้เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐตรากฎหมายมาบังคับให้ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับเพศและพ้นโทษแล้ว  จะต้องลงทะเบียนไว้กับสำนักงานผู้รักษากฎหมาย  การไม่ลงทะเบียนเป็นความผิดทางอาญา สำนักงานผู้รักษากฎหมายจะต้องนำข้อมูลนี้ไปให้สาธารณชนรับทราบ  เมื่อพ้น 15 ปี แล้วปรากฏว่าผู้ลงทะเบียนไม่ได้กระทำความผิดทางเพศ  ผู้ลงทะเบียนอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลตัดตนเองออกจากการเป็นผู้มีสถานภาพเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศ
      สรุป  ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามักจะมีการกระทำที่มีความผิดฐานอื่นรวมอยู่ด้วยในตัวมันเอง  เช่น ความผิดต่อเสรีภาพ เพราะมีการบังคับให้หญิงจำยอมให้ชายกระทำชำเรา นอกจากนี้ยังมักจะมีการทำร้ายร่างกายของหญิง หรือมีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายต่อหญิง ทำให้หญิงได้รับความปวดร้าวใจยิ่งกว่าการบาดเจ็บทางกาย จึงเห็นว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่น่าจะเป็นความผิดอันยอมความได้  นอกจากนี้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่ควรจะจำกัดเฉพาะกรณีที่ชายทำต่อหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนเองเท่านั้น  หญิงอาจบังคับให้ชายกระทำชำเราตนเองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความยินยอมของชาย หรืออาจเป็นการที่หญิงกระทำต่อหญิงหรือชายทำต่อชายก็ได้  เช่น ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง  ก็อาจถูกชายอื่นข่มขืนกระทำชำเราได้  การข่มขืนกระทำชำเราไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำต่ออวัยวะเพศของหญิงเสมอไป  อาจเป็นการกระทำต่อทวารหนัก  หรืออาจเป็นการบังคับใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้ก็ได้  นอกจากนี้ตามกฎหมายอังกฤษ ชายอาจมีความผิดฐานข่มขืนภริยาของตนเองหากภริยาไม่ยอมร่วมเพศ  หากชายผู้เป็นสามีใช้กำลังบังคับข่มขืนภริยาของตน  ชายมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภริยาของตน  ความคิดที่ว่าภริยาได้ให้ความยินยอมในการยินยอมให้ร่วมเพศด้วยตลอดกาลหลังจากการสมรสไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ภริยาไม่ได้ถือเป็นบุคคลคนเดียวกับสามีเพราะภริยาถือเป็นผู้มีตัวแยกต่างหากจากผู้เป็นสามี  ดังจะเห็นได้จากมีการแยกทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นสินส่วนตัวไม่ได้รวมกันดังเช่นในอดีต ทั้งหมดนี้เป็นวิวัฒนาการกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจน่าพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย

            


        ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=268309

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น