ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

สัญญากู้ยืมเงิน




         ปีนี้เป็นปีที่ใครๆ ต่างก็บ่นกันอุบ เพราะว่าเศรษฐกิจบ้านเรามันไม่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เนื่องมาจากเศรษฐกิจของโลกในระบบของการค้าตลาดเสรี ที่ต่างก็ล้มกันระเนระนาดกันเป็นทิวแถว และยังไม่เท่านั้น มันยังส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่น มายังเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นไม่พ้นชนชาวรากหญ้าตาดำๆทั้งหลาย เพราะว่าข้าวปลาอาหารต่างๆ ก็แพงขึ้นๆ ทำให้เราต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้น ในขณะที่รายรับนั้นเท่าเดิม หรือแทบจะไม่มีเลย เมื่อเป็นแบบนี้ต่อไปใครๆ ก็คงจะพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า แย่   เมื่อสถานะการณ์เป็นอย่างนี้ไม่ว่าใครๆ ต่างก็ต้องแลซ้ายแลขวาเพื่อหาทางเอาตัวรอดกันทั้งนั้น หากท่านมีโอกาสและจังหวะที่ดีพอ ท่านก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่เลียบๆ เคียงๆ ไปยังคนที่อยู่ข้างๆ แล้วก็พูดออกมาเลยว่า "ขอยืมเงินหน่อยคร๊าบ"

        "การกู้ยืมเงิน" นั้น เป็นเรื่องธรรมดาในยุคนี้สมัยนี้ และสำหรับชาวบ้านชาวช่องทั่วๆ ไปต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้นในช่วงเวลาที่ลำบากยากเข็ญ  ซึ่งในเรื่องของการกู้ยืมเงินตามแบบฉบับของชาวบ้านนั้น ส่วนมากก็จะเป็นการขอยืมกันด้วยปากเปล่า ไม่ได้มีการทำสัญยงสัญญาอะไรไว้ต่อกัน ทั้งนี้เพราะถือหลักความคุ้นเคยและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และเมื่อได้มีการหยิบยืมเงินกันแล้ว เมื่อถึงเวลา ก็จะเอามาคืนให้กัน โดยที่ไม่ได้มีการคิดดอกบงดอกเบี้ยให้มันปวดสมองเล่น และการยืมแต่ละครั้งก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก   
       
           สิ่งที่ได้กล่าวและเกิดขึ้นมานี้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในยามที่ลำบาก  แต่ก็อย่างว่าละครับ คนเราเกิดมาย่อมจะมีความแตกต่าง ทั้งจริต นิสัย ถ้าเจอคนที่ดีก็ถือว่าเป็นบุญไป แต่หากไปเจอคนที่เลว ชอบเอารัดเอาเปรียบ หรือคอยจ้องแต่จะคดโกงคนอื่นอย่างนี้แล้ว อย่างนี้ก็คงไม่ไหว และหากคนแบบนี้มาขอหยิบยืมเงินเราไป ปัญหาที่ตามมาก็อาจจะหนีไม่พ้นต้องกุมขมับ เพราะว่าหายเข้าไปในกลีบเมฆ หรือทวงถามเมื่อไหร่ก็บอกไม่มี แล้วก็ผลัดผ่อนไปวันหลังอยู่เรื่อยๆ แบบนี้ผู้ให้ยืมก็คงหน้าดำหน้าเขียวไม่รู้จะทำอย่างไรดีซะงั้น

        ตามหลักของกฎหมายในเรื่องของการกู้ยืมเงิน การจะทำสัญญากู้ยืมเงินในแต่ละครั้งนั้นจะทำสัญญากันด้วยปากเปล่าก็ได้ หรือเพื่อความมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาขึ้นตามมาภายหลัง จะทำเป็นหนังสือสัญญาโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้  (แต่ถ้าจะให้ดีเพื่อความสบายใจ เราก็ควรที่จะทำเป็นหนังสือสัญญาดีกว่า) แต่ว่า หากมีการกู้ยืมเงินกันเป็นเงินมากกว่าสองพันบาทขึ้นไป (ก็ 2,001 บาทขึ้นไป) ก็จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสำคัญ (หลักฐานการกู้ยืมนั้นจะเป็นหนังสืออะไรก็ได้ โดยต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมอยู่ด้วย เช่น จดหมายโต้ตอบว่าได้มีการยืมเงินกันไป อย่างนี้ก็ใช้ได้) และหากว่ามีการกู้ยืมเงินกันเกินกว่าสองพันบาท แล้วไม่ได้ทำสัญญากันไว้ หรือว่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่ง
อย่างใดเลย อย่างนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะไปฟ้องร้องต่อศาล เพื่อจะเรียกร้องเอาเงินจากผู้กู้ยืมคืนมาไม่ได้  เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้ให้กู้ก็ต้องรับเคราะห์ไป ส่วนผู้กู้ก็เดินยิ้มแฉ่งได้อย่างสบายอกสบายใจ เพราะได้ตังค์ใช้ฟรี

        ดังนั้นในการกู้ยืมเงินกัน แม้ว่าเราจะรู้จักมักคุ้นกับผู้กู้เงิน และไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขนาดไหน เราก็ควรจะทำสัญญา หรือทำหลักฐานการกู้ยืมกันไว้จะเป็นการดีที่สุด เพราะตามข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินโดยส่วนมาก คู่พิพาทมักจะเป็นคนที่รู้จักกัน

        ที่นี้เรามาว่ากันในส่วนของฝ่ายของผู้กู้ยืมเงิน  กฎหมายก็ได้วางหลักเกณฑ์ในส่วนของผู้กู้ยืมเงินเอาไว้เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อการกู้ยืมเงินได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ต่อกัน หรือไม่ได้ทำหนังสือสัญญา แต่ว่าได้ทำหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แสดงได้ว่าได้มีการกู้ยืมเงินกัน โดยฝ่ายผู้กู้เงินได้เซ็นต์ชื่อลงในหนังสือนั้นด้วย เช่น
         นาย ก. เขียนจดหมายไปหา นาย ข. บอกว่า "เงินที่ยืมไป 50,000 บาท ชาติหน้าถึงจะคืนให้" เสร็จแล้วนาย ก. ก็ได้ลงชื่อเอาไว้
         ข้อความที่กล่าวไว้ข้างต้น เพียงเท่านี้ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานของการกู้ยืมเงินได้  และต่อมาเมื่อผู้กู้เงินได้ชำระเงินตามวันเวลาที่ได้ตกลงกันไว้กับผู้ให้กู้เงินแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้กู้เงินกลับละเลยไม่ขอใบเสร็จ หรือหลักฐานการชำระเงิน หรือเมื่อชำระเงินให้กับผู้ให้กู้เงินครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้ขอสัญญากู้ หรือหลักฐานการกู้คืนจากผู้ให้กู้ หรือขอให้ผู้ให้กู้เงินทำลายสัญญา หรือหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นเสีย ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อใจกันแล้ว   หากปรากฏว่าวันดีคืนดีผู้กู้เงินก็ได้รับหมายเรียกจากศาล โดยมีข้อหาว่า ผู้กู้เงินผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้เงินตามสัญญา  เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้แล้ว ผู้กู้เงินจะต่อสู้กับผู้ให้กู้ โดยนำพยานหลักฐานไปแสดงต่อศาล เพื่อแสดงว่าได้นำเงินไปชำระคืนให้กับผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้วไม่ได้  ทั้งนี้เพระว่าผู้กู้เงินไม่มีหลักฐานแสดงได้ว่า ได้นำเงินไปชำระแล้วนั่นเอง ที่นี้ผู้กู้เงินก็ต้องก้มหน้ารับเคราะห์ หาเงินไปชำระให้กับผู้ให้กู้อีกรอบ ส่วนผู้ให้กู้เงินก็ยิ้มบ้าง เพราะได้กำไรเป็นเท่าตัว

        สรุป ในส่วนของผู้กู้เงิน เมื่อได้นำเงินมาชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ ก็ควรที่จะขอใบเสร็จ หรือหนังสืออย่างอื่นที่แสดงว่าได้มีการชำระเงินคืนแล้ว เป็นเงินเท่าใด  และหากชำระครบถ้วนแล้ว ก็ขอสัญญาคืน หรือขีดฆ่า หรือฉีกทำลายเสียซึ่งดีกว่าใช้ความเชื่อใจ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมาภายหลังนะครับ



             ที่มา : http://www.chawbanlaw.com/bq_law/folder_bg_7/bkg_7_2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น