ความทรงจำ

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กฏหมายคืออะไร


กฎหมายคืออะไร 

                คำจำกัดความของ “กฎหมาย” หมายถึงคำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์  ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นผู้ใดฝ่าฝืน มีสภาพบังคับ

ลักษณะของกฎหมาย

                เมื่อได้ทราบความหมายของกฎหมายแล้ว  กฎหมายต้องมีลักษณะ  ๕ ประการดังนี้

               1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ

                    หมายความว่า  กฎหมายนั้นต้องอยู่ในรูปของคำสั่ง  คำบัญชา  อันเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับ  เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ  มิใช่เป็นการประกาศชวนเชิญเฉย ๆ  เช่น  ในสมัย  จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี  รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนคนไทยให้สวมหมวก  เลิกกินหมากและให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน  ประกาศนี้แจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนิยมให้ประชาชนปฏิบัติอย่างไร  มิได้บังคับจึงไม่เป็นกฎหมาย

                2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ 

                   รัฎฐาธิปัตย์คือ  ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน  โดยที่ไม่ต้องฟังอำนาจจากผู้ใดอีก  ดังนี้รัฎฐาธิปัตย์จึงไม่ต้องพิจารณาถึงที่มาหรือลักษณะการได้อำนาจว่าจะได้อย่างไร  แม้จะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตามถ้าหากคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่สามารถออกคำสั่ง  คำบัญชาในฐานะเป็นกฎหมายของประเทศได้

                3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป

                    หมายความว่า  กฎหมายต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป  ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง  หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดปฏิบัติตามเท่านั้น  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุ  เพศ  หรือฐานะอย่างไรก็ตกอยู่ภายใต้ของการใช้บังคับกฎของกฎหมายอันเดียวกัน  (โดยไม่เลือกปฏิบัติ)  เพราะบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน  แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคล  หรือวางความรับผิดชอบให้แก่คนบางหมู่เหล่า  แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าใช้บังคับทั่วไปอยู่เหมือนกัน  เพราะคนทั่ว ๆ  ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ

                    สาระสำคัญอีกประการหนึ่งคือ  กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอกไป (CONTINUITY) จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือถูกยกเลิก  หากไม่มีการยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ได้เสมอ  ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “กฎหมายนอนหลับบางคราวแต่ไม่เคยตาย” (THELAW  SOMETIMESSLEEP, NEVER DIE)

                4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม

                    แม้การปฏิบัติบางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติ  แต่หากเป็นคำสั่ง  คำบัญชาแล้ว  ผู้รับคำสั่ง  คำบัญชา  ต้องปฏิบัติตาม  หากขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดสภาพบังคับของกฎหมาย  อันเป็นผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น  และเป็นที่พึงเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติตามกฎหมายได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย

                   อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่สัตว์  แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมมิให้สัตว์ก่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนรำคาญแก่มนุษย์  ดังนี้กฎหมายจึงกำหนดความรับผิดไว้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตามสมควร  จึงมิใช่เป็นการออกคำสั่ง  คำบัญชาแก่สัตว์  แต่เป็นการควบคุมโดยผ่านทางผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น  ตัวอย่างเช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 433  บัญญัติว่า  “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ  จำต้องใช้คำเสียหายทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย”

                5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ

                    เพื่อให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์  และประชาชนเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงต้องมีสภาพบังคับ  (SANCTION) สภาพบังคับของกฎหมายนั้นแบ่งเป็นสภาพบังคับในทางอาญาและทางแพ่ง

                    สภาพบังคับให้ทางอาญาโดยทั่วไปแล้ว  คล้ายคลึงกัน  คือ หากเป็นโทษสูงสุดจะใช้วิธีประหารชีวิต  ซึ่งปางประเทศให้วิธีการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า  แขวนคอ  แต่ประเทศไทยในปัจจุบันให้นำไปฉีดยาให้ตายใช้วิธีประหารด้วยวิธีอื่นไม่ได้  นอกจากนั้นก็เป็นการจำคุก  เป็นการเอาตัวนักโทษควบคุมในเรือนจำ  ซึ่งต่างกับกักขังเป็นการเอาตัวไปกักไว้ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ  เช่นที่อยู่ของผู้นั้นเอง หรือสถานที่อื่นที่ผู้ต้องกักขังมีสิทธิดีกว่าผู้ต้องจำคุก  สำหรับกฎหมายไทยโทษกักขังจะใช้เฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดครั้งแรก  และความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน  ศาลจึงจะลงโทษกักขังแทนจำคุกได้  ส่วนการปรับคือ  ให้ชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล

                    การริบทรัพย์สิน  คือ  การริบเอาทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน  เช่น  ปืนที่เตรียมไว้ยิงคน  หรือเงินที่ไปปล้นเขามา  นอกจากการริบแล้วอาจสั่งทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้

                    สภาพบังคับในทางแพ่งก็ได้แก่  การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ  ตัวอย่างเช่น  การซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ  และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตกเป็นโมฆะ  การทำนิติกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี  เป็นการพ้นวิสัยก็ดี  เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี  ตกเป็นโมฆะ   การให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจากการไม่ชำระหนี้  การให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกละเมิด




คำนำหน้านามของหญิง

พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551
              ประกาศใช้แล้วกฎหมายคำนำหน้านามหญิง สาวแต่งงานแล้วเฮ! เลือกใช้'นาง' หรือ'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ พวกเป็นหม้ายก็กลับไปชื่อ'นางสาว'ได้เหมือนเดิม   พ.ร.บ.คำนำหน้านามหญิง   พ.ศ. 2551 ประกาศใช้แล้วเมื่อ  วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งจะทำให้หญิงซึ่งแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถที่จะเลือกใช้'นาง'หรือ'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ และหญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว   อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120  วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณ  วันที่ 4 มิถุนายน 2551
ส่วนเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่การใช้คำนำหน้านามของหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้วต้องใช้คำนำหน้านามว่า'นาง'คำเดียว โดยมิอาจเลือกได้ตามความสมัครใจ ทำให้เกิดผลกระทบต่อหญิงดังกล่าวในการดำรงชีวิตประจำวันอาทิ การประกอบอาชีพ การศึกษาของบุตร และการทำนิติกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้การใช้คำนำหน้านามในลักษณะดังกล่าวของหญิงมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ สมควรกำหนดให้หญิงมีทางเลือกในการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจซึ่งเป็นการสอดคล้องกับการเลือกใช้นามสกุลตามกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล
สำหรับรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้มีดังนี้
             มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า 'พระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. ๒๕๕๑'
             มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
              มาตรา ๓ พระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบการใช้คำนำหน้านามหญิงเป็นอย่างอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
              มาตรา ๔ หญิงซึ่งมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้ใช้คำนำหน้านามว่า “นางสาว”
              มาตรา ๕ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง' หรือ 'นางสาว'ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
              มาตรา ๖ หญิงซึ่งจดทะเบียนสมรสแล้ว หากต่อมาการสมรสได้สิ้นสุดลงจะใช้คำนำหน้านามว่า 'นาง'หรือ 'นางสาว' ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว
              มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตามตามพระราชบัญญัตินี้

          ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๕ ก.พ.๕๑ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็มีผลบังคับใช้ ๔ มิ.ย.๕๑ ครับ


ค่าสินไหมทดแทน


              การดำเนินคดีในศาลแบ่งเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา คู่กรณีต้องการให้ลงโทษผู้กระทำผิดหรือสร้างความเสียหายแก่ตน คดีแพ่งและคดีอาญามีการลงโทษแตกต่างกัน คือ คดีอาญาจะเน้นการลงโทษที่ร่างกายของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก เช่น โทษประหารชีวิต จำกัดอิสรภาพหรือพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือครอบครัว เป็นต้น ส่วนคดีแพ่งจะเน้นลงโทษโดยการบรรเทาหรือชดใช้ความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เช่น จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หรือ บังคับทางทะเบียน เป็นต้น

             ดังนั้น การเลือกดำเนินคดีทางใดนั้น ผู้ฟ้องคดีต้องพิจารณาก่อนว่า ต้องการให้ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างไร พฤติกรรมเป็นเหตุให้ฟ้องคดีนั้นเข้าองค์ประกอบทางแพ่งหรือทางอาญา ศาลจะลงโทษไม่เกินกว่าที่ร้องขอหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย

              กรณีคดีแพ่งซึ่งจะลงโทษด้วยการให้ชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดนั้น ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องได้และได้รับจริงไม่เท่ากับที่ร้องขอไป หลายคนสงสัยว่าเหตุใดศาลจึงไม่ให้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ร้องขอ ศาลมีอำนาจเพิ่มหรือลดค่าเสียหายได้หรือไม่

คำตอบมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

ข้อบัญญัติเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายกำหนดชัดว่าเป็นอำนาจของศาลจะใช้ดุลพินิจว่าค่าสินไหมทดแทนควรเป็นเท่าไร แต่ต้องไม่เกินกว่าคำฟ้องหรือร้องของโจทก์ อีกทั้งยังบอกด้วยว่าค่าสินไหมทดแทนได้แก่ การคืนทรัพย์สิน การใช้ราคาทรัพย์สิน และ ค่าเสียหายรูปแบบอื่นที่ใช้บังคับชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งอาจมิใช่เงินก็ได้ หลายครั้งจักเห็นคำสั่งศาลให้ผู้แพ้คดีต้องจ่ายเงินค่าลงประกาศขอโทษทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆเมื่อแพ้คดีละเมิดหรือหมิ่นประมาท ซึ่งกระทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลเพื่อชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดทางแพ่ง

กรณีการเรียกค่าเสียหายที่หลายคนสงสัยว่า เหตุใดร้องขอไปจำนวนหนึ่ง แต่ศาลอาจให้น้อยกว่าที่ร้องขอก็ได้ คำตอบคือ การพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่วินิจฉัยตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่รับฟังจากการพิจารณาคดีซึ่งโจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ได้รับความเสียหายอย่างไร มากน้อยเพียงใด ตัวเลขที่ร้องขอสมเหตุสมผลกับข้อเท็จจริงอย่างไร

                ส่วนจำเลยมีสิทธิ์โต้แย้งค่าเสียหายนี้ได้ด้วยการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างกับโจทก์ ศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่โจทก์และจำเลยอย่างเสมอภาค หากศาลเห็นว่าโจทก์ร้องขอมากเกินสมควร ย่อมมีสิทธิ์ลดจำนวนเงินลงได้ หลายครั้งจึงมักเห็นว่าโจทก์ร้องขอค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท แต่ศาลอาจตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเพียงหลักแสนบาทก็ได้ถ้าเชื่อว่าความเสียหายของโจทก์ไม่มากอย่างที่ยื่นขอไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐาน  พิสูจน์ของโจทก์และจำเลยเป็นหลัก ส่วนใหญ่คดีแพ่งนั้นโจทก์มักเรียกค่าเสียหายจำนวนสูงไว้ก่อน เพราะศาลจะเป็นผู้กำหนดค่าเสียหายในคดีดังกล่าว ข้อสังเกตสำหรับการฟ้องคดีแพ่งคือ ยิ่งผู้เสียหายเป็นคนหรือบริษัทมีชื่อเสียงมากเพียงใด ค่าเสียหายที่จักได้รับหากชนะคดีต้องสูงขึ้นไปด้วยเหตุมูลค่าของชื่อเสียงนั่นเอง สิ่งพึงระลึกให้มั่นในใจคือ จงหลีกเลี่ยงการมีคดีในศาลไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา เพราะนอกจากแพ้คดีแล้วต้องจ่ายค่าสินไหมจำนวนสูง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะท่านต้องจ่ายค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมดำเนินคดีในศาล ค่าใช้จ่ายจิปาถะ จนกว่าคดีสิ้นสุด สิ่งสุดท้ายที่มักลืมคิดถึง คือ ค่าเสียเวลาไปขึ้นศาล ///.


อายุความ


อายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
             บัญญัติเกี่ยวกับอายุความว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นอันขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่ขาดอายุความแล้ว ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ทั้งนี้อายุความที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น คู่กรณีจะตกลงกันให้งดใช้หรือขยายเวลาออกไปหรือย่นเข้ามาไม่ได้    อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป กล่าวคือ กำหนดของอายุความให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่เวลาที่สามารถหรือที่จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิดังกล่าว แต่ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เริ่มนับระยะเวลาสำหรับอายุความ ตั้งแต่เวลาแรกที่มีการฝ่าฝืนต่อการกระทำนั้น หมายถึง กรณีสิทธิเรียกร้อง ที่ไม่ให้กระทำการใดๆ หากมีการฝ่าฝืนกระทำการที่ห้ามนั้น เมื่อรู้ถึงการกระทำดังกล่าว อายุความที่จะฟ้องร้องตามสิทธิเริ่มต้น ตั้งแต่เวลาที่เริ่มกระทำการฝ่าฝืนดังกล่าว
ส่วนสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ ยังไม่อาจที่จะบังคับตามสิทธิได้ จนกว่าเจ้าหนี้จะได้มีการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้เสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขตามกฎหมาย ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาที่เจ้าหนี้สามารถที่จะทวงถามการชำระหนี้เป็นต้นไป แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ ลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้ จนกว่าจะผ่านระยะเวลาหรือห้วงเวลาหนึ่งไปแล้วอายุความนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปีสิทธิเรียกร้องของรัฐ ที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี

               สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความมีกำหนดอายุความสิบปี ไม่ว่าสิทธิเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใดสิทธิเรียกร้อง สำหรับดอกเบี้ยค้างชำระ เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระ เว้นแต่ค่าเช่าสังหาริมทรัพย์ เงินค้างจ่าย เช่น เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่นๆลักษณะทำนองเดียวกัน ที่มีการจ่ายเป็นระยะเวลาและสิทธิเรียกร้องของ ผู้ประกอบการค้าเพื่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบเกษตรกรรม ผู้ขายสลากกินแบ่งหรือที่คล้ายคลึงกัน (ตาม ปพพ. ม.193/34(1)(2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี ) ให้มีอายุความห้าปี
               สำหรับสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวกับการเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบ ค่างานที่ได้ทำ ค่าขนส่ง ค่าโดยสาร ค่าลูกจ้าง ค่าครูอาจารย์ ฯลฯ ตาม ปพพ. ม.193/34 ให้มีอายุความสองปีกรณีสิทธิเรียกร้อง บังคับชำระหนี้ ของผู้รับจำนำ จำนอง ผู้ทรง สิทธิยึดหน่วง ผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ อันตนยึดถือไว้ แม้อายุความหนี้ประธานจะขาดอายุความ และการชำระหนี้ ตามสิทธิที่ลูกหนี้ ไม่รู้ถึงการขาดอายุความ และการรับสภาพหนี้เป็นหนังสือ ใช้สำหรับการฟ้องร้อง ให้มีอายุความสองปี
อายุความสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
        1. ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ หรือการชำระหนี้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัย แสดงให้เห็นโดยปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ดังกล่าว
        2. เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานตามสิทธิเรียกร้อง หรือเพื่อให้ชำระหนี้
        3. เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
        4. เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
        5. เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใด อันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี
เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับรวมเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น


กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค


กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค
                กฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนในสังคม โดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคสินค้าและการใช้บริการ เช่น มนุษย์ต้องบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ต้องใช้บริการรถประจำทาง รถไฟฟ้า รวมทั้งบริการอื่น ๆเพื่ออำนวยความสะดวก เช่น การใช้บัตรเครดิต โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ดังนั้นการบริโภคหรือการใช้บริการต่าง ๆจะต้องได้มาตรฐานและมีคุณภาพครบถ้วนตามที่ผู้ผลิตได้โฆษณาแนะนำไว้ ด้วยเหตุนี้ รัฐในฐานะผู้คุ้มครองดูแลประชาชน หากพบว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริโภคสินค้าและบริการจะต้องรีบ เข้าไปแก้ไขเยียวยาและชดเชยความเสียหายให้กับประชาชนหน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอยู่หลากหลายและกระจายตามประเภทของการบริโภคสินค้าและบริการ เช่น
     1. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง เป็นหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณาสุข ที่ต้องเข้ามาดูแล
     2. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องเข้ามาดูแล
     3. กรณัที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับเจ้าของธุรกิจจัดสรรที่ดิน อาคารชุด เป็นหน้าที่ของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยเข้ามาดูแล
     4. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับคุณภาพหรือราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ ที่ต้องเข้ามาดูแล
     5. กรณีที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการประกันภัยหรือประกันชีวิต เป็นหน้าที่ของกรมการประกันภัย กระทรวงพานิชย์ ที่ต้องเข้ามาดูแล
                  สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จัดเป็นกฎหมายเฉพาะที่ที่ไม่ซับซ้อนหรือขัดกับอำนาจหน้าที่ของหนาวยงานที่คุ้ทครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ ตามตัวอย่างข้างต้น เพระาหากเกิดกรณีจำเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบมิได้ดำเนินการแก้ไขหรือดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย ผู้เดือดร้อนสามารถร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งการแก้ไขแทนได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วนงานคุ้มครองด้านการบริโภคสินค้าและบริการทั่วไป นอกเหนือจากการทำงานของหน่วยงานอื่น
กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ได้บัญญัติสิทธิของผู้บรริโภคได้ 5 ประการคือ
     1) สิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ เพื่อการพิจารณาเลือกซื้อสินค้่หรือรับบริการอย่างถูกต้อง ทำให้ไม่หลงผิดในคุณภาพสินค้าและบริการ
     2) สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกสินค้าและบริการดดยปราศจากการชักจูงก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
     3) สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีที่ใช้ตามคำแนะนำของผู้ผลิต
     4) สิทธิที่จะได้รับการพิพจารณาและชดเชยความเสียหาย อันหมายถึง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิผู้บริโภค
     5) เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคควรดำเนินการเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือต่อคณะกรรมการคุ้มครอวผู้บรืโภค

ผู้จัดการมรดก


 
              เมื่อมีมรดกก็ย่อมแสดงว่า มีทรัพย์สินที่จะต้องแบ่งให้กับทายาทของเจ้ามรดก โดยเมื่อพูดถึงการแบ่งทรัพย์มรดก บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ก็แค่แบ่งๆ กันไปตามส่วนสัดที่มีอยู่ หรือตามแต่จะตกลงกันเองในกลุ่มของทายาทกันเอง ที่ว่ามานี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ว ชาวบ้านธรรมดาอย่างเราๆ ก็มักจะทำอะไรอย่างนั้นอยู่แล้ว  เช่น ในการแบ่งที่ดิน ทายาทผู้ที่มีความอาวุโสก็จะเป็นผู้จัดสรรแบ่งที่ดินตามส่วนสัด เรียงลำดับตามญาติพี่น้องลดหลั่นกันไป ผู้พี่ก็อาจจะได้รับจัดสรรค์ที่ดินในส่วนทิศเหนือ พี่ผู้รองก็อาจได้ส่วนกลาง ลดหลั้นลงมาเรื่อยๆ  ส่วนการแบ่งทรัพย์สินโดยทั่วไป เช่น เงิน ทอง รถ บ้าน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็ยิ่งจะแบ่งง่ายเข้าไปใหญ่ และไม่ค่อยจะมีปัญหาตามมา เพราะเมื่อแบ่งกันอย่างไรแล้ว ก็ถือว่าเป็นอันยุติ ต่างคนต่างก็ทำมาหากินกันไป  โดยเฉพาะมรดกที่มี
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกเพียงคนเดียว ก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่  เพราะถือว่า เป็นทรัพย์สินของพ่อแม่ที่จะต้องรักษาเอาไว้ มีอยู่อย่างไงก็เป็นอย่างนั้น
       แต่ว่าในเรื่องเดียวกัน สำหรับคนอีกคนหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่เหตุและปัจจัยต่างๆ ในขณะนั้นว่าเป็นอยู่อย่างไร ซึ่งบางคนอาจจะต้องขึ้นโรงขึ้นศาลใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี กว่าจะแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ค่อยนำมาชี้แจงให้ทราบในภายหลังนะครับ
       ที่นี้เราก็มาดูถึงวิธีการการแบ่งมรดกกันบ้าง  ในการแบ่งมรดกที่เป็นทรัพย์สินโดยทั่วไปนั้น ส่วนมากมักจะไม่เป็นปัญหาสำหรับทายาท เพราะมีอะไรก็แบ่งๆกันไปอย่างที่เกริ่นกันมาข้างต้นแล้ว ส่วนที่เป็นปัญหาก็คือ ทรัพย์สินมรดกที่มีทะเบียน ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงชื่อในทะเบียนนั้นๆ อย่างเช่น ที่ดิน อาวุธปืน และรวมไปถึงเงินฝากของเจ้ามรดกที่มีอยู่ในธนาคาร  ทรัพย์สินมรดกเหล่านี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของเท่านั้นถึงจะมีสิทธิจัดการได้ แต่ปัญหาที่มีคือว่า เจ้าของทรัพย์สินที่ว่ามานั้น ได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นเหตุให้ไม่มีใครสามารถจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นมรดกนั้นได้ 
ดังนั้นในเรื่องนี้ กฎหมายก็ได้เข้ามาเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ ผ่านตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาล โดยความยินยอมของทายาททุกๆ คน ซึ่งเราเรียกโดยทั่วไปว่า "ผู้จัดการมรดก" 
       ผู้จัดการมรดก  คือ  "ผู้มีหน้าที่ในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดก ให้กับทายาทของเจ้ามรดกผู้มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมาย"  จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  ผู้จัดการมรดกก็คือบุคคลธรรมดาคนหนึ่งนี่เอง ที่ได้รับแต่งตั้ง และมอบหมายหน้าที่ในการจัดการตามความจำเป็น เพื่อที่จะทำการจัดแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท  ฉะนั้นแล้วผู้จัดการมรดกนั้น จึงมีหน้าที่ในการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทเท่านั้น
       ดังนั้นแล้ว ตามความเข้าใจของชาวบ้านโดยทั่วไปที่ว่า "ผู้จัดการมรดก"  คือผู้มีอำนาจจัดการเอาทรัพย์มรดกมาเป็นของตัวเองคนเดียว หรือถ้าใครเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ก็มีสิทธิในทรัพย์มรดกที่มีอยู่นั้น ความเข้าใจที่ว่ามานี้ จึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
     การจะเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากศาล และก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ก็จะต้องมีการไต่สวนเสียก่อนว่า ผู้ที่ขอมีความสามารถดำเนินการได้ และเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้น  ซึ่งในกรณีนี้ก็จะมีประเด็นของที่ไปที่มาของผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดก ได้ 2 ประการ  คือ
      
       1. เป็นบุคคลที่ผู้ทำพินัยกรรม (เจ้ามรดก) ได้ระบุชื่อเอาไว้ในพินัยกรรม ให้แต่งตั้งเป็นผู้จัดการ
มรดกของเจ้ามรดกเอง    ในกรณีนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ทำพินัยกรรมหรือเจ้ามรดก ได้แสดงเจตนาครั้งสุดท้ายไว้ก่อนตาย โดยได้ระบุตัวผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดกของตัวเองเอาไว้ก่อนตาย  ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวเองเลยก็ได้ เช่น ทนายความ เพื่อนของเจ้ามรดก หรือตาสียายสาที่ไหนก็ได้  หรือจะเป็นญาติพี่น้อง หรือตัวทายาทคนใดคนหนึ่งก็ได้     เมื่อได้ระบุชื่อแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกเอาไว้ในพินัยกรรมแล้ว ก็จะต้องนำพินัยกรรมฉบับนั้นไปร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมดังกล่าว เป็นผู้จัดการมรดกอีกครั้งหนึ่ง ผู้นั้นถึงจะมีอำนาจดำเนินการจัดการต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกได้ ตามกฎหมาย
       2. ทายาท  หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ         
         เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมระบุแต่งตั้งใครเอาไว้  ในกรณีแบบนี้ ทายาท หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในทรัพย์มรดกคนใดคนหนึ่ง สามารถร้องขอต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องขอเป็นผู้จัดกามรดกได้  ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลก็จะทำการไต่สวนก่อนที่จะมีการแต่งตั้งเช่นกัน
         ส่วนในกรณีของพนักงานอัยการนั้น ก็สามารถร้องขอต่อศาลได้  แต่เป็นในกรณีที่ทายาท หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียไม่สามารถดำเนินการได้เอง  เช่น  ทายาทยังเป็นเด็ก  ทายาทเป็นคนวิกลจริต หรือเป็นบ้า จึงทำให้ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ และทายาทที่ว่านั้น ก็ต้องไม่มีญาติพี่น้อง หรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นอีก หรือทายาทผู้รับมรดกได้สูญหายไปไหนไม่รู้  หรือเป็นเรื่องที่ทายาทไปอยู่นอกประเทศเสีย เป็นต้น 

       ผลของการไม่มีผู้จัดการมรดกนั้น  ชาวบ้านแถวๆ บ้านนอกก็จะบอกว่าไม่เห็นจะเป็นปัญหาอย่างไร ซึ่งก็น่าจะเป็นจริงดังที่ว่า  เพราะว่าชาวบ้านทั้งหลายนิยมที่จะแบ่งทรัพย์มรดกกันเอง  แบบพี่แบบน้อง  เช่น น้องรองเอาตรงนั้น น้องเล็กเอาทางนี้  ส่วนพี่ใหญ่หน่อยขอโน้นละกัน (ซึ่งอาจจะมากหน่อย) ซึ่งการแบ่งปันของชาวบ้านในสมัยก่อนก็ง่าย และเป็นธรรมด้วยกันทุกฝ่าย เมื่อแบ่งกันเสร็จสรรพต่างคนก็ต่างทำมาหากินกันไป ที่ใครก็ที่มัน   แต่เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันนี้ ทรัพย์สินต่างๆ ล้วนแต่มีค่ามีราคาแทบทั้งสิ้น  โดยเฉพาะทรัพย์มรดกที่เป็นที่ดินด้วยแล้ว นับว่ามีค่ามหาศาล ไม่ต้องพูดถึงถึงที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองและเป็นย่านการค้าขาย   ด้วยเหตุฉะนี้ปัญหาพี่ฆ่าน้อง น้องฆ่าพี่ เพื่อแย่งทรัพย์มรดกจึงเกิดขึ้นในบ้านเราเมืองเรา อย่างที่เห็นๆกัน  นี่แหละเข้าเรียกว่า "ทุกข์ของคนมีกะตังค์



ที่มา : http://www.chawbanlaw.com/gkdq_law/folder_gkdg_9/gkdg_9_2.html

บุตรบุญธรรม



การจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม          
  บุตรบุญธรรม คือ บุตรที่ขอมาเลี้ยงดูเสมือนเป็นบุตรของตน
หลักเกณฑ์    
        ๑.ผู้รับจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี และจะต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะต้องเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี
        ๒.ผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องได้รับความยินยอมจาก
                  – บิดาและมารดา หรือ
                  – บิดาหรือมารดา (กรณีมารดาหรือบิดาถึงแก่กรรม) หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือ
                  – ผู้แทนโดยชอบธรรมกรณีไม่มีบิดามารดา
        ๓.ผู้ที่เป็นบุตรบุญธรรมมีอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป ต้องลงนามให้ความยินยอมในการเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วย
        ๔.ผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมและผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ถ้ามีคู่สมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน เว้นแต่
                 – คู่สมรสไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ เช่น วิกลจริต หรือ
                 – ไปเสียจากภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครได้ข่าวคราวเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี
        ๕.การรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นบุตรบุญธรรมตาม พ.ร.บ. การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องยื่นคำขอพร้อมด้วยหนังสือแแสดงความยินยอมของผู้มีอำนาจให้ความยินยอมที่กล่าวไว้ในข้อ ๒ และ ๔ ข้างต้น ณ ที่
                  ๑) ศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมกรมประชาสงเคราะห์ กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือ
                  ๒) ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือประชาสงเคราะห์จังหวัด กรณีที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอื่น
อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี จะให้ผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม รับเด็กไปทดลองเลี้ยงดูด้วยตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ก่อนอนุมัติให้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ยกเว้นกรณีผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดา ทวด ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม ไม่ต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กดังกล่าว
        ๖.ผู้เยาว์ที่เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอยู่แล้ว จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นในขณะอีกไม่ได้ เว้นแต่เป็นบุตรบุญธรรม ของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม
        ๗.พระภิกษุ จะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไม่ได้



ที่มา : http://www.scblu.com/?p=515

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ทะเบียนราษฏร์


 การทะเบียนราษฎร์ 
          บุตรเกิด ถ้าเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้ง ถ้าเกิดนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด
ชื่อบุตร ให้เจ้าบ้าน บิดา หรือมารดาแล้วแต่กรณี แจ้งชื่อบุตรพร้อมกับการแจ้งเกิด ถ้าจะเปลี่ยนชื่อให้แจ้งภายใน 6 เดือนนับแต่วันแจ้งชื่อครั้งแรก
          ย้ายบ้าน ให้ผู้ย้ายหรือผู้ที่เจ้าบ้านมอบอำนาจแจ้งออกจากบ้านเดิมภายใน 15 วัน และเมื่อไปอยู่บ้านใหม่ให้แจ้งภายใน 15 วันเช่นกัน
          คนตาย ถ้าในบ้านให้เจ้าบ้านแจ้ง ถ้าตายนอกบ้านให้ผู้ที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้ที่พบศพเป็นผู้แจ้ง ภายใน 24 ช.ม. นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ แจ้งที่ไหน กรณีบุตรเกิด ตั้งชื่อบุตร ย้ายบ้านหรือคนตาย ให้แจ้งดังนี้
         ในเขตเทศบาล : ให้แจ้งที่สำนักงานท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาล
          นอกเขตเทศบาล : ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล (บ้านกำนัน) หรือสำนักทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง (เช่น เขตกรมทหาร)
           ความผิด 
ถ้าไม่แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
ถ้าไม่แจ้งการตายภายในเวลามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

         

  ที่มา : http://kanyatas.exteen.com/20071122/entry-1

การสมรส

หลักเกณฑ์การสมรส มีอยู่ ๔ ประการ คือ
       ๑. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเปินหญิง
       ๒. การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายและหญิงสมรสกันโดยไม่ได้เกิดจากความยินยอมสมรสกัน การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
       ๓. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต
       ๔. การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว
เงื่อนไขการสมรส
       ๑. ชายและหญิงต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้วทั้งสองคน หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นเป็น
โมฆียะตามมาตรา ๑๕๐๓
       ๒. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
       ๓. ญาติสนิทสมรสกันไม่ได้ ญาติสนิทมี ๔ ประเภท คือ
              (๑) ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
              (๒) ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
              (๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
               (๔) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา
ผลของการฝ่าฝืนทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
ข้อสังเกต ญาติสนิทถือตามความเป็นจริง
        ๔. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นก็ยังคงสมบูรณ์ มีผลเพียงการรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๔๕๑ เท่านั้น
         ๕. ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืนเป้นการสมรสซ้อนทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
         ๖. ชายหรือหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน หากไม่มีเจตนาที่จะทำการสมรสกันจริงๆ การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕ และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างชายหรือหญิงนั้นเป็นโมฆะได้ตามมาตรา ๑๔๙๖ วรรคสอง
        ๗. หญิงหม้ายจะสามารถใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาไม่น้อยกว่า ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิมได้ล่วงพ้นไปเสียก่อน (มาตรา ๑๔๕๓) แต่มีข้อยกเว้นให้หญิงหม้ายทำการสมรสได้ ๔ ประการคือ
               (๑) หญิงนั้นได้คลอดบุตรแล้ว
               (๒) หญิงนั้นสมรสกับสามีคนก่อน
                (๓) มีใบรับรองแพทย์ว่าหญิงนั้นมิได้ตั้งครรภ์
                (๔) มีคำสั่งศาลให้หญิงนั้นทำการสมรสได้
การสมรสที่ฝ่าฝืนนี้สมบูรณ์และบุตรที่เกิดมาภายใน ๓ๆ วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗
        ๘. ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
แบบของการสมรส
          การสมรสจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วก็เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายทันทีตามมาตรา ๑๔๕๗


     ที่มา: http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

บุตรที่ชอบด้วยกฏหมาย


          เด็กเกิดจากหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นบุตรนอกสมรสของชาย มีทางช่วยเปลี่ยนฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้นั้น มี 3 วิธี ด้วยกัน คือ
          1) บิดาจดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก การจดทะเบียนสมรสทำให้ลูกทุกคนที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดต่อไปมีฐานะเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่วันที่บิดามารดาจดทะเบียนสมสรกัน
           2) ให้บิดาของเด็กจดทะเบียนรับรองบุตร  วิธีกรณีที่ชายไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับแม่เด็กได้ เพราะมีคู่สมรสแล้ว หรือมีเมียหลายคนไม่อยากจดทะเบียนกับใครเลย ถ้าจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายต้องให้เด็กและมารดาเด็กยินยอม กฎหมายไม่ได้บังคับว่าคู่สมรสของฝ่ายชายต้องยินยอมด้วย
          3) ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร  ถ้าชายไม่ยอมจด หรือฝ่ายฃายอยากจดแต่มารดาเด็กไม่อาจยินยอมได้ เพราะตาย หรือสูญหาย เพื่อจะได้มีสิทธิรับมรดก  (อายุความ 1 ปี นับแต่เด็กบรรลุนิติภาวะ)
การฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ต้องมีเหตุอ้างอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
           1) หญิงมารดาถูกข่มขืนในระยะเวลาซึ่งอาจตั้งครรภ์ได้
            2) หญิงมารดาถูกลักพาไปในทางชู้สาว
            3) มีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กเป็นบุตร
             4) บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดเอง หรือยินยอมให้แจ้งในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตร
             5) บิดามารดาอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผย
             6) ได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงอาจตั้งครรภ์ได้ ควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
              7) มีพฤติกรรมที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร


กรณีตัวอย่าง
          สมศักดิ์สามีของสมศรีเป็นคนเจ้าชู้มาก มีเมียหลายคน และ มีลูกกับทุกเมีย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับใคร ลูกของสมศรีใช้นามสกุลของพ่อเด็กในใบเกิด สมศักดิ์มีเมียทีไร ก็จะปลูกบ้านให้อยู่ และยกให้เมียและลูกนั้น  ส่วนของสมศรีก็เช่นกันแต่ไม่ได้ยกให้เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนของลูกเมียคนอื่นเขาได้ยกให้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วในกรณีนี้ ลูกของสมศรี ถือได้ว่าเป็นบุตรนอกสมรส  การที่จะทำให้ลูกของสมศรีเปลี่ยนฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้นั้น  สามารถเลือกจะทำได้ 3 วิธี ที่กล่าวแล้วข้างต้น เว้นสามีไม่ยินยอม ทำทั้งกรณีที่ 1 และ 2  ก็ใช้วิธีการที่ 3 คือ ร้องขอต่อศาล
           สำหรับเรื่องบ้าน ที่อยู่ก็ขอให้สามีดำเนินการยกให้ถูกต้อง เพราะหากเมื่อสามีเสียชีวิตทรัพย์สินทั้งหมดก็จะกลายเป็นมรดกซึ่งต้องแบ่งให้ทายาทเท่ากัน(ดูเรื่องมรดกที่ได้เขียนไว้แล้ว)



 ที่มา :  http://www.oknation.net/blog/watcharakorn/2007/04/23/entry-1

การหมั้น


เงื่อนไขของการหมั้น มีอยู่ ๒ ประการ
        ๑. อายุของคู่หมั้น (มาตรา ๑๔๓๕) ชายและหญิงคู่หมั้นต้องมีอายุอ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืนตกเป็นโมฆะ
         ๒. ความยินยอมของบิดามารดา (ได้รับความยินยอมทั้งบิดาและมารดาแม้บิดามารดาจะแยกกันอยู่ก็ตาม) หรือผู้ปกครอง (มาตรา ๑๔๓๖) การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเป็นโมฆียะ
แบบของสัญญาสัญญาหมั้น
         หลัก การหมั้นต้องมีของหมั้นมิฉะนั้นการหมั้นไม่สมบูรณ์ (มาตรา ๑๔๓๗)
การหมั้น จะต้องเป็นการที่มีการนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิง แต่หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
         ของหมั้น เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที
ลักษณะสำคัญของของหมั้น
       ๑. ต้องเป็นทรัพย์สิน
        ๒. ต้องเป็นของฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
        ๓. ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
        ๔. ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และต้องให้ไว้ก่อนสมมรส (ถ้าให้หลังสมรสก็ไม่ใช่ของหมั้น)
ลักษณะของสินสอด
         (๑) ต้องเป็นทรัพย์สิน
         (๒) ต้องเป็นของฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง
         (๓) ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการหมั้นหรือการสมรส ชายหญิงทำการหมั้นและสมรสกันได้โดยไม่ต้องมีสินสอด แต่ถ้าได้มีการตกลงกันว่าจะให้สินสอดแก่กัน ฝ่ายหญิงย่อมฟ้องเรียกสินสอดได้
การที่หญิงยอมสมรสถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
 ดังนั้น ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกสินสอดกันได้ใน ๒ กรณี
          ๑. กรณีไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง
          ๒. กรณีไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีการสมรสอันเนื่องมาจากกรณีที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอด (มาตรา ๑๔๔๑)  อายุความฟ้องเรียกสินสอดคืนใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐
การผิดสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
         ๑. การหมั้นไม่เป็นเหตุฟ้องร้องบังคับให้สมรสได้
          ๒. เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนกันตามมาตรา ๑๔๓๙ โดยเรียกค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ ดังนั้น ค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นจะมีได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๔๐ ใน ๓ กรณี คือ
                ๒.๑ ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายและหญิงนั้น
                ๒.๒ ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นเดียวกับบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
                 ๒.๓. ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นเกี่ยวแก่อาชีพหรือการทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
ถ้าชายผิดสัญญาหมั้น หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น แต่หากหญิงผิดสัญญาหมั้น หญิงก็ต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย
การระงับสิ้นไปแห่งสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
    ๑. คู่สัญญาหมั้นทั้ง ๒ ฝ่าย ตกลงยินยอมเลิกสัญญา
   ๒. ชายคู่หมั้นหรือหญิงคู่หมั้นถึงแก่ความตาย
    ๓. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาหมั้นเนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น
            - ใช้เหตุเดียวกับเหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ ส่วนเหตุอื่นนอกเหนือจากเหตุหย่าก็ถือเป็นเหตุสำคัญได้ เช่น คู่หมั้นถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือถูกศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นต้น
            - โดยหลักแล้วไม่ว่าฝ่ายชาหรือหญิงเลิกสัญญาหมั้นเพราะเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิงหรือชายคู่หมั้น ฝ่ายชายหรือหญิงจะเรียกค่าทดแทนจากกันไม่ได้ แต่หากเหตุที่เกิดปก่คู่หมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นฝ่ายนั้นตามมาตรา ๑๔๔๔ ยกเว้นไว้ว่าคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
                 ๓.๑ ชายบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น
เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น เช่น หญิงยินยอมให้ชายอื่นร่วมประเวณีในระหว่างการหมั้น หญิงวิกลจริตหรือได้รับอันตรายสาหัสจนพิการ หรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น ผลคือ ชายเรียกของหมั้นคืนได้และหญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย
                  ๓.๒ หญิงบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น
เหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น เช่น ชายไร้สมรรถภาพทางเพศ เป็นคนวิกลจริตหรือพิการ เป็นนักโทษและกำลังรับโทษอยู่ ร่วมประเวณีกับหญิงอื่น ไปเป็นชู้กับภริยาคนอื่น ข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น เป็นต้น นอกจากนี้แม้เหตุสำคัญดังกล่าวจะมาจากความผิดของหญิงคู่หมั้น หญิงคู่หมั้นก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ผลของการบอกเลิกสัญญาหมั้นหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

ค่าทดแทนในการเลิกสัญญาหมั้น
         ๑. ค่าทดแทนที่คู่หมั้นเรียกจากกันในกรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นเหตุที่ทำให้ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนจะต้องเกิดขึ้นหลังการหมั้น หากเกิดขึ้นก่อนทำสัญญาหมั้นก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ คู่สัญญาหมั้นมีสิทธิเพียงแต่บอกเลิกสัญญาหมั้นโดยอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้น จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
          ๒. ค่าทดแทนจากชายอื่นหรือหญิงอื่นที่ล่วงเกินหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้นทางประเวณี
                  ๒.๑ กรณีที่คู่หมั้นยินยอมร่วมประเวณีกับชายอื่นหรือหญิงอื่นนั้น
                            (๑) เรียกค่าทดแทนได้ต่อเมื่อชายหรือหญิงคู่หมั้นได้ บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา ๑๔๔๒ หรือมาตรา ๑๔๔๓ แล้ว
                            (๒) ชายอื่นหรือหญิงอื่นจะต้องรู้หรือควรรู้ว่าชายหรือหญิงนั้นได้หมั้นแล้ว
                  ๒.๒ กรณีบุคคลอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืนการกระทำชำเราหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้น
                              (๑) คู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นด้วย
                              (๒) ไม่ใช่เป็นเรื่องของการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง คู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้นไม่ได้ตามมาตรา ๑๔๔๔ ไม่ได้
                              (๓) คู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากบุคคลอื่นที่มาข่มขืนหรือพยายามข่มขืนคู่หมั้นตนได้ บุคคลอื่นนั้นจะต้องรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงหรือชายมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคู่หมั้นเป็นใคร


       
                 ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

การหย่า


            การหย่าร้าง หมายถึง การสิ้นสุดของชีวิตคู่ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ หรือมีเหตุผลทางสังคมอย่างอื่น      การหย่าร้างของคู่สมรส ของคู่จดทะเบียนสมรสมี 2 แบบ คือ การหย่าโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย และการหย่าโดยการฟ้องหย่า     การหย่ามีอยู่ ๒ กรณีคือ

๑. การหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย
(๑) ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย ๒ คน ตามมาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง
(๒) ต้องได้มีการจดทะเบียนหย่าตามมาตรา ๑๕๑๕ จึงจะสมบูรณ์
๒. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
การฟ้องหย่าต้องอาศัยเหตุการหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ มีเหตุ ๑๒ ประการ ดังนี้
         ๒.๑ สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
           ๒.๒ สามีหรือภริยาประพฤติชั่วไม่ว่าจะมีความผิดอาญาหรือไม่ ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง
                      (๑) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
                      (๒) ได้รับการดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่ยังคงเป็นสามีหรือภริยาที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
                      (๓) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีหรือภริยามาคำนึงประกอบ
           ๒.๓ สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นการร้ายแรง
           ๒.๔ สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน ๑ ปี 
           ๒.๕ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
            ๒.๖ เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒) แบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
                      (๑) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปี    ข้อสังเกต ต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายมิใช่สมัครใจฝ่ายเดียว
                       (๒) แยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเกิน ๓ ปี
             ๒.๗ สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
              ๒.๘ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร 
               ๒.๙ สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
               ๒.๑๐ สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
               ๒.๑๑ สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
               ๒.๑๒ สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล 

เหตุหย่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นเหตุ ๔ ประการนี้จะอ้างเหตุหย่าไม่ได้ คือ
(๑) สามีหรือภริยารู้เห็นหรือยินยอมให้ภริยาหรือสามีอุปการะหญิงหรือชายอื่น เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่น หรือรู้เห็นหรือยินยอมหรือร่วมในการที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วนั้น
(๒) สามีหรือภริยาไม่สามารถร่วมประเวณีได้ตลอดกาลเพราะการกระทำของอีกฝ่าย
(๓) การทำผิดทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข
(๔) ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยแล้ว 
ผลของการหย่า
๑. การใช้อำนาจปกครองบุตรหลังการหย่า (มาตรา ๑๕๒๐) แบ่งออกเป็น ๒ กรณี
           ๑.๑ กรณีการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย เป็นไปตามข้อตกลงว่าใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรโดยข้อตกลงดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือ จะตกลงกันด้วยวาจาไม่ได้
            ๑.๒ การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าสามีหรือภริยาฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร โดยต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป้นสำคัญ
๒. การอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่า
         - การที่สามีและภริยาคู่หย่าทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าฝ่ายใดจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นเงินเท่าใดแล้ว หากต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระตามที่ตกลงกันไว้ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องเรียกให้จ่ายเงินดังกล่าวที่ค้างชำระตามสัญญา และที่จะต้องชำระต่อไปในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
          - กรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าฝ่ายใดมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด หากคู่หย่าคนใดได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไปจำนวนเท่าใด ก็มีสิทธิเรียกให้ภริยาหรือสีอีกฝ่ายชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ตนได้ออกไปก่อนนับแตวันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะได้ เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้น
           - อายุความฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ ๕ ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียวก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา ๑๙๓/๓๓ (๔) ประกอบมาตรา ๑๙๓/๑๒
๓. การเรียกค่าทดแทน
         ในการที่ศาลพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันเพราะเหตที่มีการล่วงเกินในทางประเวณีนั้น สามีหรือภริยาผู้เป็นโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนซึ่งอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
            ๓.๑ ภริยาประพฤตินอกใจสามีโดยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องชายอื่นฉันสามี มีชู้หรือร่วมประเวณีกับชายอื่นเป็นอาจิณหรือมีการล่วงเกินกับชายอื่นในทำนองชู้สาว
            ๓.๒ สามีประพฤตินอกใจภริยาโดยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ หรือสามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นในทำนองชู้สาว
ข้อสังเกต ผู้เรียกค่าทดแทนจะต้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย หากรู้เห้นเป็นใจด้วยก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ ตามมาตรา ๑๕๒๓ วรรคท้าย

๔. การเรียกค่าเลี้ยงชีพ
             ๔.๑ การหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายเดียวและการหย่านี้จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง หากประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๓ ประการ นี้ ก็เรียกค่าเลี้ยงชีพได้
                  (๑) เหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว
                  (๒) การหย่านั้นจะทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกค่าเลี้ยงชีพต้องยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากแรงงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
                   (๓) คู่สมรสฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีฟ้องหย่านั้น
             ๔.๒ กรณีการหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตหรือโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
             ๔.๓ กรณีคู่หย่าตกลงชำระค่าเลี้ยงชีพกันเอง
ข้อสังเกต สัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา ๑๕๒๖ ไม่ใช่สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างเป็นสามีภริยากันตามมาตริ๑๔๖๙ สามีหรือภริยาจึงไม่มีสิทธิอ้างมาตรา ๑๔๖๙ มาเป็นเหตุบอกล้างสัญญานี้ได้
             ๔.๔ การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ
             ๔.๕ สิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
ผลของการหย่า
การแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา 
เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา ในระหว่างสามีภริยากฎหมายกำหนดให้
(๑) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(๒) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นมีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

     
         
               ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

พินัยกรรม


พินัยกรรมคืออะไร?

            พินัยกรรม คือ หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เพื่อแสดงเจตนาว่าเมื่อตนตายไปแล้วต้องการให้ทรัพย์สินต่างๆ ตกเป็นของใคร หรือตั้งให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก โดยพินัยกรรมจะมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไปแล้ว ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้พินัยกรรมต้องทำตามแบบ หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดพินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กฎหมายกำหนดแบบของพินัยกรรมไว้กี่แบบ?

กำหนดไว้ 5 แบบดังนี้
1. พินัยกรรมแบบธรรมดา 
2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ        
3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง  
4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
5. พินัยกรรมแบบที่ทำด้วยวาจา



            ที่มา : http://www.lawfirm.in.th/legacy.html

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา


      ปัจจุบันเรามักมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางโทรทัศน์ว่า มีการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นประจำ โดยผู้กระทำเป็นผู้ใหญ่บ้างและเด็กบ้าง  ขณะเดียวกันผู้เสียหายอาจมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเช่นเดียวกัน การข่มขืนกระทำชำเรานั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 276 ซึ่งบัญญัติว่า  “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
     จะเห็นได้ว่า หลักกฎหมายของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอยู่ที่มาตรา 276 วรรค 1  ส่วนวรรค เป็นบทเพิ่มโทษ   ถ้าการกระทำความตามวรรคแรกของมาตรา 276  ได้กระทำโดยมีหรือให้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
     การข่มขืนกระทำชำเรา คือ การร่วมเพศโดยฝ่าฝืนต่อความยินยอมของหญิง หากหญิงยินยอมย่อมไม่เป็นความผิด เว้นแต่หญิงนั้นอายุยังไม่เกิน 15 ปี ถึงหญิงนั้นยินยอมก็เป็นผิดตามมาตรา 277  กรณีต่อไปนี้ไม่ถือว่าหญิงยินยอม เช่น หญิงกำลังหลับหมดสติ หรือเป็นคนวิกลจริต หรือคนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ หรือโดยการทำให้หญิงเข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นบุคคลอื่น เช่น ทำหญิงเข้าใจว่าตนเองเป็นสามีหญิงหรือคนรักของหญิง เช่น เพื่อนของคนรักหญิงมาร่วมงานเลี้ยงที่บ้านของหญิง และนอนค้างบ้านของหญิงด้วย ตกดึก เพื่อนของคนรักหญิงเห็นหญิงกำลังหลับจึงเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราหญิง โดยทำให้หญิงเข้าใจว่าเป็นคนรักของตนเอง เป็นต้น ส่วนแค่ไหนเพียงใดจึงจะถือว่าหญิงไม่ยินยอมนั้น ศาลอเมริกันถือว่าต้องมีการขัดขืนที่สุด (resist to the utmost) ต่อมาศาลได้ผ่อนคลาย หลักเกณฑ์ลงมาโดยเห็นว่าการขัดขืนเพื่อแสดงว่าไม่ได้ยินยอมไม่จำเป็นต้องขัดขืนถึงที่สุด การขัดขืนต้องเป็นไปตามสถานการณ์แต่ละกรณี เพราะถ้าหญิงขัดขืนมากจนเกินไป  หญิงอาจถูกผู้ข่มขืนกระทำชำเราฆ่าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการขัดขืนจะมีการกระทำอะไรที่มากกว่าการกล่าวปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมด้วยวาจาเท่านั้น ในขณะเดียวกันกรณีที่แพทย์กระทำชำเราคนไข้หญิงโดยทำให้หญิงเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่การร่วมเพศ ย่อมไม่ถือว่าหญิงให้ความยินยอมในการร่วมเพศ หากหญิงรู้ว่าการกระทำมีลักษณะเป็นการร่วมเพศ และหญิงถูกหลอกในมูลเหตุที่ทำให้หญิงยินยอม ย่อมถือว่าหญิงยินยอมในการร่วมเพศด้วย เช่น ชายหลอกคนรักว่าหากหญิงยอมหลับนอนจะให้พ่อแม่มาสู่ขอ หรือแต่งงานด้วย หญิงจึงหลับนอนกับชาย กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนความยินยอมของหญิง
     การกระทำชำเรา คือ การร่วมประเวณี หรือการกระทำร่วมเพศ คือ การที่ชายเอาอวัยวะเพศของตนเองสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง แม้เพียงเล็กน้อย และไม่จำเป็นต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิ ก็เป็นความผิดสำเร็จ
     ตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้กระทำต้องเป็นชาย และผู้ถูกกระทำต้องเป็นหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาของชาย หากหญิงเป็นภรรยาของชายและไม่ยอมร่วมเพศกับชายผู้เป็นสามี   สามีใช้กำลังบังคับข่มขืนกระทำชำเราภรรยา ชายผู้เป็นสามีไม่มีความผิด เรียกว่า marital exception หรือข้อยกเว้นความผิดอันเนื่องมาจากการสมรส ซึ่งกล่าวกันว่า เกิดจากข้อเขียนของ Sir Matthew Hale ซึ่งเป็นประธานศาลสภาขุนนางของอังกฤษ (Lord Chief Justice) ระหว่างปี ค.ศ. 1671 ถึง 1676 ที่ว่า
     (1) การที่หญิงแต่งงานกับชายย่อมหมายความว่าหญิงได้ให้ความยินยอมแก่สามีในการที่ร่วมเพศกัน  โดยความยินยอมนั้นไม่อาจเพิกถอนได้ (irrevocable consent to intercourse) 
     (2) ภรรยาถือว่าเป็นทรัพย์ (chattle) ของผู้เป็นสามี
     (3) สามีและภรรยาเป็นบุคคลเดียวกัน ดังนั้น สามีจึงไม่อาจข่มขืนกระทำชำเราตนเอง
     ตามกฎหมาย  แม้ชายจะไม่สามารถกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเองก็ตาม แต่ไม่ได้หมายว่าสามีไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเอง เช่น ชายสามีจับแขนขาของภรรยาของตนไว้ และให้ชายอื่นข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามิได้จำกัดว่าให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น   แม้จำเลยจะเป็นหญิงเมื่อฟังว่าสมคบร่วมกันก็ลงโทษเป็นตัวการได้  (ฎีกา 250/2510) นอกจากนี้ สามีหรือหญิงอื่นอาจเป็นผู้สนับสนุนในการที่ให้ความช่วยเหลือให้ชายอื่นมาข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนได้
     อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 0991  ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้ตัดสินยกอุทธรณ์ของชายผู้หนึ่งซึ่งถูกตัดสินโทษฐานพยายามข่มขืนภริยาของตนเองซึ่งแยกกันอยู่ในคดีนี้มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5 นาย  ได้ทำคำพิพากษา   โดยประธานศาลสภาขุนนางได้ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ที่กระทำชำเราผู้อื่นก็ยังคงเป็นผู้กระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอยู่ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงว่าผู้ข่มขืนกระทำชำเราจะมีความสัมพันธ์กับหญิงผู้เสียหายไม่ว่าในสถานะใด ๆ ก็ตาม ศาลยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่าหลักการที่มีอายุเก่าแก่หลายศตวรรษไม่ได้เป็นหลักกฎหมายเช่นว่านั้นอีกต่อไปแล้ว  เมื่อคำนึงถึงสถานะของหญิงในสมัยปัจจุบัน
      ในส่วนเจตนานั้น ผู้กระทำความผิดนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมาย ตามกฎหมายอเมริกัน ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามักบัญญัติว่าจำเลยต้องมีเจตนาเฉพาะ (specific intent) ที่จะข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งจำเลยอาจนำสืบว่าจำเลยไม่สามารถมีเจตนาเฉพาะที่จะข่มขืนกระทำชำเราได้ เนื่องจากจำเลยมึนเมาจากการเสพสุราด้วยความสมัครใจ แต่บางมลรัฐก็กำหนดว่าถ้าจำเลยมีเจตนาทั่วไป (general intent) ก็เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงโดยฝ่าฝืนความยินยอมของหญิงได้
      นอกจากนี้แม้หญิงจะยินยอมให้กระทำชำเรา ชายที่ชำเรากับหญิง โดยหญิงยินยอมก็เป็นความผิดได้ ถ้าหญิงมีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี และหญิงนั้นมิใช่ภริยาของชาย
      ปกติหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่น่าจะทำการสมรสได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  ซึ่งบัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์  แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร  ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้น”    เพราะฉะนั้นการที่หญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นภริยาชายอาจเป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นกรณีพิเศษตามข้อความตอนท้ายของมาตรา 1448นี้  และที่สำคัญหญิงต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาของหญิง แต่กฎหมายอเมริกา  ชายจะชำเราด้วยหญิงที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้เลยทีเดียวแม้หญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม  สำหรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำที่ชายไม่อาจกระทำชำเรากับหญิงนั้น เริ่มตั้งแต่16, 17 หรือ 18 ปี  สุดแล้วแต่กฎหมายของแต่ละมลรัฐกำหนดไว้  นอกจากนี้บางมลรัฐยังกำหนดว่าหญิงต้องเป็นหญิงพรหมจารี  ผลคือว่าหญิงที่เป็นเด็กไม่อาจให้ความยินยอมที่สมบูรณ์ในการร่วมเพศกับชาย  ซึ่งความผิดที่เกิดจากการที่ชายกระทำชำเราด้วยเด็กหญิงนี้มีชื่อเรียกว่า statutory rape บางมลรัฐถือว่าความผิด statutory rape  เป็นความผิดเด็ดขาด (strict liability)  กล่าวคือจำเลยไม่สามารถจะแก้ตัวว่าจำเลยไม่ทราบว่าหญิงมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  และถึงแม้จำเลยจะเข้าใจผิดว่าหญิงมีอายุเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม   หรือจำเลยจะใช้ความพยายามตามสมควรในการสอบถามอายุของหญิง และหญิงจะโกหกชายก็ตาม จำเลยก็มีความรับผิดตามกฎหมาย แต่ก็มีบางมลรัฐยอมให้ยกเอาความสำคัญในเรื่องอายุของหญิงขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้  แต่ก็เป็นแต่มลรัฐส่วนน้อย
      เหตุผลที่กฎหมายเอาผิดกับชายที่ชำเรากับหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี  ตามกฎหมายไทย  หรือตามกฎหมายอเมริกัน ซึ่งกำหนดอายุของหญิงไว้สูงกว่ากฎหมายไทย เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐไม่ประสงค์ที่จะให้ชายที่ร่วมเพศกับหญิงที่มีอายุยังน้อยและไม่รู้จักวิธีป้องกันมิให้เกิดการตั้งครรภ์อันเกิดจากการร่วมเพศ และกลายเป็นมารดาเด็กในขณะที่อายุยังเยาว์วัยโดยยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็นมารดาเด็ก  นอกจากนี้หากหญิงเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หญิงอาจหาทางออกด้วยการทำแท้งซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดาและตัวหญิงเอง  หากหญิงไปลักลอบทำแท้งกับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์หรือถึงแม้ผู้นั้นจะเป็นแพทย์ก็ตาม  แพทย์ก็ไม่มีสิทธิทำแท้งให้หญิงเพราะหากมีการทำแท้ง  แพทย์ผู้ทำแท้งรวมทั้งหญิงยอมให้ผู้อื่นที่ทำแท้ง ก็มีความผิดตามกฎหมายอาญา
      ตามกฎหมายอเมริกัน  หญิงซึ่งร่วมเพศกับเด็กชายอายุไม่เกิน 16 ปี ก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน  ดังนั้นความผิดฐาน Statutory rapeอาจเป็นกรณีที่ชายที่มีอายุมากกว่าหญิงร่วมเพศกับเด็กหญิงซึ่งยังเยาว์วัยหรืออาจเป็นกรณีหญิงที่มีอายุมากกว่าชายโดยชายเป็นเด็กชายอายุไม่เกิน 16ปี
      อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ห้ามการกระทำชำเรากับเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  โดยผู้ที่เห็นแย้งมีความเห็นว่ากฎหมายห้ามการชำเรากับเด็กหญิงมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตทางเพศในโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เห็นว่าการลงโทษผู้ที่ชำเรากับเด็กหญิงเป็นการขัดต่อเสรีภาพในการเลือกใช้สิทธิส่วนตัวของหญิงที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของวัยรุ่น  นอกจากนี้ยังมีการชี้ว่ามักไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายการห้ามชำเรากับเด็กหญิง  การบังคับใช้กฎหมายจะมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติตามกฎหมายการห้ามชำเรากับเด็กหญิง  การบังคับใช้กฎหมายจะมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติเนื่องจากสีผิวและชนชั้นในสังคม  ถึงกระนั้นก็ตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามชำเรากับเด็กหญิงก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
      เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองหญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา  มลรัฐต่าง ๆ ได้ตรากฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายเกราะคุ้มครองผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราหรือ rape shield law กฎหมายฉบับนี้ห้ามมิให้จำเลยนำสืบพฤติกรรมทางเพศของผู้เสียหายกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายก่อนที่มีการข่มขืนกระทำชำเรา  กฎหมายบางฉบับบังคับว่าพยานหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับความยินยอมของผู้เสียหายในคดีหรือไม่
      นอกจากมลรัฐต่าง ๆ ได้ตรากฎหมายที่เรียกว่า Megan’s Law  เพื่อเป็นการระลึกถึง Megan Kanda  เป็นเด็กหญิงอายุ ขวบ  ถูกข่มขืนและฆ่า ในปี ค.ศ. 1994  โดย Jesse Timmendeguas Jesse  มีประวัติการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กหลายครั้ง ประชาชนมลรัฐนิวเจอซี่ได้เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐตรากฎหมายมาบังคับให้ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับเพศและพ้นโทษแล้ว  จะต้องลงทะเบียนไว้กับสำนักงานผู้รักษากฎหมาย  การไม่ลงทะเบียนเป็นความผิดทางอาญา สำนักงานผู้รักษากฎหมายจะต้องนำข้อมูลนี้ไปให้สาธารณชนรับทราบ  เมื่อพ้น 15 ปี แล้วปรากฏว่าผู้ลงทะเบียนไม่ได้กระทำความผิดทางเพศ  ผู้ลงทะเบียนอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลตัดตนเองออกจากการเป็นผู้มีสถานภาพเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศ
      สรุป  ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามักจะมีการกระทำที่มีความผิดฐานอื่นรวมอยู่ด้วยในตัวมันเอง  เช่น ความผิดต่อเสรีภาพ เพราะมีการบังคับให้หญิงจำยอมให้ชายกระทำชำเรา นอกจากนี้ยังมักจะมีการทำร้ายร่างกายของหญิง หรือมีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายต่อหญิง ทำให้หญิงได้รับความปวดร้าวใจยิ่งกว่าการบาดเจ็บทางกาย จึงเห็นว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่น่าจะเป็นความผิดอันยอมความได้  นอกจากนี้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่ควรจะจำกัดเฉพาะกรณีที่ชายทำต่อหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนเองเท่านั้น  หญิงอาจบังคับให้ชายกระทำชำเราตนเองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความยินยอมของชาย หรืออาจเป็นการที่หญิงกระทำต่อหญิงหรือชายทำต่อชายก็ได้  เช่น ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง  ก็อาจถูกชายอื่นข่มขืนกระทำชำเราได้  การข่มขืนกระทำชำเราไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำต่ออวัยวะเพศของหญิงเสมอไป  อาจเป็นการกระทำต่อทวารหนัก  หรืออาจเป็นการบังคับใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้ก็ได้  นอกจากนี้ตามกฎหมายอังกฤษ ชายอาจมีความผิดฐานข่มขืนภริยาของตนเองหากภริยาไม่ยอมร่วมเพศ  หากชายผู้เป็นสามีใช้กำลังบังคับข่มขืนภริยาของตน  ชายมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภริยาของตน  ความคิดที่ว่าภริยาได้ให้ความยินยอมในการยินยอมให้ร่วมเพศด้วยตลอดกาลหลังจากการสมรสไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ภริยาไม่ได้ถือเป็นบุคคลคนเดียวกับสามีเพราะภริยาถือเป็นผู้มีตัวแยกต่างหากจากผู้เป็นสามี  ดังจะเห็นได้จากมีการแยกทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นสินส่วนตัวไม่ได้รวมกันดังเช่นในอดีต ทั้งหมดนี้เป็นวิวัฒนาการกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจน่าพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย

            


        ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=268309

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมรดก

“ตายแล้วไปไหน" แม้จะน่าสนใจ แต่ไม่มีใครตอบได้         “ตายแล้วทรัพย์สินไปไหน” แม้จะไม่สนใจ (เพราะบางคนอาจถือว่าเมื่อตายแล้วก็แล้วกันทรัพย์สินจะไปไหนก็ไม่ใช่เรื่องของตัวอีกต่อไป หรือบางคนไม่สนใจเพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรที่จะให้ต้องเป็นห่วง ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว) แต่ก็น่าจะรู้ไว้ เพราะประโยชน์ที่จะได้รับนั้นไม่เพียงจะได้ใช้สำหรับเตรียมการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเอง แต่ยังจะเป็นประโยชน์ที่จะได้ติดตามดูว่าเมื่อคนอื่นตายไปแล้ว เราจะมีส่วนในทรัพย์สินหรือมรดกของคนอื่นนั้นได้ในกรณีใดบ้างเพราะใครจะไปรู้ จู่ ๆ มรดกเจ้าคุณปู่อาจจะตกมาถึงเราบ้างก็ได้

            ๑. กองมรดก คืออะไร


           กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว แม้แต่ทองที่ครอบฟันไว้ ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย


นอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงบรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าภายหลังจากที่ตายแล้วด้วยเช่นทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้สองปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก ๘ ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น


อย่างไรก็ตามบรรดาสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ย่อมตายตามตัวผู้ตายไปด้วย ไม่ตกทอดไปถึงทายาท เช่นทำสัญญาว่าจะไปเล่นลิเกให้ชมในอีกสิบวันข้างหน้า หรือไปตกลงรับจ้างวาดรูปไว้ แล้วเกิดตายเสียก่อนเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัว จะมากะเกณฑ์ให้ทายาทต้องไปเล่นลิเกแทนผู้ตายย่อมไม่ได้ แต่ถ้าบังเอิญผู้ตายไปรับเงินค่าตัวเขามาก่อนแล้ว ก็กลายเป็นหนี้ที่ทายาทจะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้จ้าง


เมื่อกฎหมายกำหนดว่ากองมรดกนั้นประกอบไปด้วยทั้งทรัพย์สินและหน้าที่และความรับผิดด้วยเช่นนี้ มิกลายเป็นว่าถ้ากองมรดกมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ทายาทที่จะรับมรดกไปมิต้องกลายเป็นลูกหนี้ไปด้วยหรือ เรื่องนี้กฎหมายมิได้ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดนั้น เพราะได้กำหนดไว้แล้วว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน เรียกว่าอย่างแย่ที่สุดก็เพียงเสมอตัว คือไม่ได้อะไรเลย


ที่ว่าทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ต้องเข้าใจว่าหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายจริง ๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยามีอยู่ร่วมกัน เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างสามีภริยาจะต้องแยกออกจากกันเสียก่อน ส่วนของใครก็เป็นของของคนนั้น จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่จะต้องยกเฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีพินัยกรรม และทรัพย์สินจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินที่จะตกไปย่อมจำกัดอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ตาย ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย


เมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวม ๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว



การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมา มิได้หมายความว่าคู่สมรสดังกล่าวได้รับมรดก หากแต่เป็นการได้ทรัพย์สินของตนคืนมา ส่วนของผู้ตายนั้น คู่สมรสจึงจะไปรับมาในฐานะมรดกอีกต่อหนึ่ง เช่น เมื่อสามีตาย มีเงินอยู่ในบัญชีของสามี ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าเงิน ๑๐๐ ล้านบาทนั้นได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ใช่เป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีตาย เงิน ๑๐๐ ล้านจะถูกแบ่งระหว่างสามีและภริยาคนละ ๕๐ ล้าน ส่วนของสามี ๕๐ ล้านจะตกเป็นทรัพย์มรดก นำมาแบ่งกันในระหว่างผู้เป็นทายาท ซึ่งแม้ภริยาจะไม่ได้เป็นทายาท แต่ก็มีสิทธิได้รับมรดกเช่นเดียวกับทายาท เช่น ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และมีลูก ๔ คน เงิน ๕๐ ล้านนั้นจะแบ่งระหว่างภริยาและลูก ๆ คนละ ๑๐ ล้าน ตกลงภริยาจะได้เงิน ๖๐ ล้าน (คือ ๕๐ ล้านในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของตนที่แยกออกมา และอีก ๑๐ ล้านในฐานะที่เป็นมรดก) และลูก ๆ ได้คนละ ๑๐ ล้าน

ถ้าผู้ตายเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านจะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน โดยจะไม่ตกไปยังทายาทโดยธรรมทั้งปวง แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนอุปสมบทย่อมตกไปเป็นของทายาทได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป


                  ๒. ใครบ้างมีสิทธิได้รับมรดก


คนที่จะมีสิทธิได้รับมรดกแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ “ทายาทโดยธรรม” อันได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ประเภทหนึ่ง และ “ผู้รับพินัยกรรม” ซึ่งได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม อีกประเภทหนึ่ง


ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร ผู้รับพินัยกรรมย่อมได้รับมรดกตามนั้น และถ้าทำพินัยกรรมยกมรดกให้ใครหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกเลย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีพินัยกรรมระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือถึงมีพินัยกรรมกำหนดไว้แล้วแต่ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่จึงจะตกไปถึงทายาทโดยธรรม


แต่ทายาทโดยธรรมอาจเป็นผู้รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมด้วยก็ได้ เช่น พ่อทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ลูก ๆ จนหมด ในกรณีนั้นลูก ๆ จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรม ส่วนในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถ้าบังเอิญมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะตกได้แก่ลูก ๆ ในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย


คุณสมบัติเบื้องต้นของคนธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) ที่จะมีสิทธิได้รับมรดก ได้แก่ คนที่มีสภาพบุคคลแล้วในเวลาที่เจ้ามรดกตาย ซึ่งกฎหมายอธิบายว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ถ้าคลอดออกมาแล้วตายทันที ก็ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล แล้วเลยพลอยไม่มีสิทธิได้รับมรดกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาในเวลาที่เจ้ามรดกตาย หากภายหลังเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจึงคลอดออกมาแล้วอยู่รอดเป็นทารก กฎหมายถือว่าทารกนั้นมีสิทธิที่จะได้รับมรดกได้ แต่ต้องเกิดมาภายใน ๓๑๐ วันนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย ถ้าเกิดภายหลังจากนั้น คงยากที่จะถือได้ว่าเป็นทายาทของผู้ตาย ส่วนจะเป็นทายาทหรือลูกของใคร ไม่ใช่เรื่องที่บทความนี้จะวิจารณ์ให้สะเทือนใจเจ้ามรดก


ทายาทโดยธรรมนั้น กฎหมายแบ่งออกเป็น ๖ ลำดับ มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สืบสันดาน อันได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
ใครก็ตามที่เป็นทายาทและบวชเป็นพระภิกษุ จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ จะต้องสึกออกมาจากสมณเพศเสียก่อนจึงจะเรียกร้องเอาได้ เว้นแต่จะมีผู้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ท่าน ท่านอาจเรียกร้องเอาได้แม้ว่าจะยังอยู่ในสมณเพศ


                 ๓. สิทธิการรับมรดกในระหว่างทายาทโดยธรรมด้วยกันเองและคู่สมรส


(๑) ถ้ามีทายาทลำดับ (๑) คือผู้สืบสันดานแล้ว ทายาทในลำดับอื่น ๆ หมดสิทธิที่จะได้รับมรดกโดยสิ้นเชิง ยกเว้นทายาทลำดับ (๒) และคู่สมรสแล้ว ซึ่งต่างจะมีสิทธิรับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นผู้สืบสันดานคนหนึ่ง เช่น ผู้ตาย มีภริยา ๑ คน มีลูก ๒ คน (สมมุติให้ชื่อ”เพชร” กับ “ทอง” จะได้สะดวกในการอ้างถึงในภายหลัง) มีบิดา และมารดา ในกรณีนี้มรดกจะแบ่งกันระหว่าง ภริยาลูกและบิดามารดาคนละเท่า ๆ กัน คือแต่ละคนได้รับหนึ่งในห้า 


ในระหว่างทายาทที่เป็นผู้สืบสันดาน (ทายาทลำดับ(๑) ด้วยกัน คนที่เป็นลูกของเจ้ามรดกเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับมรดก ส่วนบรรดาหลาน เหลน หรือลื้อ จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกโดยตรง แต่ถ้าลูกคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก และลูกคนนั้นมีลูก หรือมีหลาน (ซึ่งจะเป็นหลานหรือเหลนของเจ้ามรดก) ลูกหรือหลานเหล่านั้นก็จะรับมรดกแทนที่พ่อของตน เช่นในกรณีตัวอย่างข้างต้น ปรากฏว่าเพชร ตายก่อนพ่อซึ่งเป็นเจ้ามรดก ถ้าเพชรไม่มีลูกหรือหลาน มรดกก็จะตกได้แก่ทอง ภริยาของเจ้ามรดก บิดา มารดา ในกรณีนี้ ทองจึงมีสิทธิได้รับมรดก ๑ ใน ๔ แต่ถ้าเพชรมีลูกหรือมีหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกหรือหลานของเพชรก็จะเข้ามารับมรดกแทนที่เพชร (ซึ่งเรียกว่าผู้รับมรดกแทนที่) ในกรณีนี้ มรดกจึงยังคงต้องแบ่งเป็น ๕ ส่วน อย่างเดิม ส่วนที่เป็นของเพชรนั้น ลูก ๆ ของเพชรก็นำไปแบ่งกันเอง ถ้าเพชรมีลูก ๓ คน ลูก ๓ คนก็จะได้มรดกไป ๑ ส่วน แล้วนำหนึ่งส่วนนั้นไปแบ่งในระหว่างกันเอง ต่างคนต่างจะได้ ๑ ใน ๓ ของมรดกที่ได้รับมา (เช่น มีมรดกมีมูลค่า ๕ ล้านบาท ในส่วนของเพชรจะได้มา ๑ ล้านบาท ลูก ๆ ของเพชรจะได้คนละ ๓ แสนกว่าบาท) ถ้าลูกของเพชรคนหนึ่งคนใดตาย แต่มีลูก (หลานของเพชร) ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนที่เป็นของลูกของเพชรที่ตายไปนั้นก็จะตกไปยังหลานของเพชร และเป็นเช่นนี้จนกว่าแต่ละสายจะสิ้นสุดลง


(๒) ถ้าผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและผู้สืบสันดานไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ แต่มีบิดามารดา มรดกย่อมตกไปยังคู่สมรสกึ่งหนึ่งและตกเป็นของบิดามารดาอีกกึ่งหนึ่ง โดยทายาทลำดับถัด ๆ ไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่ถ้าบิดามารดาตายไปก่อน ก็เป็นอันจบกันไป จะมีการรับมรดกแทนที่บิดามารดาไม่ได้ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ ๓ ต่อไป


(๓) สำหรับทายาทลำดับ (๓) คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ในกรณีนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกไปกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีกี่คนก็แบ่งไปเท่า ๆ กัน ถ้าคนหนึ่งคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก ถ้ามีลูกหลาน ลูกหลานก็เข้ามารับมรดกแทนที่กันต่อ ๆ ไปจนสุดสาย(๔) ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (๓) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ (๔) คือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน การแบ่งมรดกจะแบ่งให้คู่สมรสก่อน ๒ ใน ๓ ส่วน ที่เหลือจึงจะตกได้แก่ทายาทลำดับ (๔) ซึ่งต้องไปแบ่งกันเองคนละเท่า ๆ กัน และก็เช่นเดียวกับทายาทลำดับ (๓) คือ ถ้าใครตายไปก่อน มรดกของคนนั้นก็จะถูกทายาทของตนรับมรดกแทนที่ต่อ ๆ ไปจนสุดสาย


(๕) ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (๔) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (๕) คือ ปู่ย่าตายาย ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน ๒ ใน ๓ ส่วนส่วนที่เหลือจึงจะนำไปแบ่งกันในระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย ถ้าใครตายก่อนก็เป็นอันหมดสิทธิไป เพราะจะไม่มีการรับมรดกแทนที่เหมือนทายาทลำดับอื่น ๆ


(๖) ถ้าไม่มีปู่ย่าตายาย มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (๖) คือ ลุง ป้า น้า อา ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน ๒ ใน ๓ ที่เหลือจึงจะนำมาแบ่งปันกันกับลุง ป้า น้า อา ถ้าใครตายไปก่อนมรดกของคนนั้นก็จะตกทอดไปสู่ทายาทของคนนั้นอันเป็นการรับมรดกแทนที่(๗) ถ้าไม่มีทายาททั้ง ๖ ลำดับและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่เหลืออยู่เลย คงเหลือแต่คู่สมรสคนเดียว มรดกทั้งหมดจะตกได้แก่คู่สมรส


(๘) ถ้าใครสิ้นไร้ไม้ตอกเสียจนแม้แต่คู่สมรสก็ไม่มี ทายาทก็ไม่มีสักลำดับเดียว ทั้งยังมิได้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย มรดกย่อมตกได้แก่แผ่นดิน


                      ๔. การถูกตัดออกจากกองมรดก


การที่ทายาทโดยธรรมจะถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดก อาจมีได้ ๓ กรณี คือ


        (๑) ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นจะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลย แต่ถ้ายักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้
ทายาทที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทายาทที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ ถ้าฟ้องแล้วปรากฏว่าเจ้ามรดกมีความผิดจริง หรือถึงแม้ไม่ผิดจริงแต่มิใช่เพราะเหตุตนนำความเท็จหรือพยานเท็จมาสู่ศาล ทายาทผู้นั้นก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกตามปกติทายาทที่รู้อยู่แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำความขึ้นร้องเรียนเพื่อที่จะเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษ เว้นแต่ทายาทนั้นอายุยังไม่ครบ ๑๖ ปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามี ภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตนทายาทที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้ทำการดังกล่าวทายาทที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดทายาทที่ถูกกำจัดมรดกดังกล่าวข้างต้นนั้น กฎหมายถือเสมือนหนึ่งว่าทายาทคนนั้นตายไปแล้ว ดังนั้น ถ้าทายาทคนนั้นมีทายาทรับช่วงต่อ ทายาทที่รับช่วงต่อย่อมสามารถรับมรดกแทนที่ได้ และถ้ามิใช่ในกรณีที่ถูกกำจัดตามข้อ แรก ถ้าเจ้ามรดกให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็สามารถรับมรดกได้ตามปกติ


               (๒) การถูกตัดมิให้รับมรดก เจ้ามรดกอาจตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
ด้วยการแสดงเจตนาไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งอาจทำได้ ๒ วิธี คือ
๑ แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรม
๒ ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้คนอื่นจนหมด ทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นย่อมถือว่าถูกตัดมิให้รับมรดก


            (๓) การสละมรดก ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก อาจไม่ประสงค์จะรับมรดกดังกล่าวก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกไว้ให้ชัดแจ้ง หรือจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ได้ แต่การสละมรดกนั้นจะสละเพียงบางส่วน หรือสละโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
การสละมรดกจะทำก่อนที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ แต่เมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจะสละมรดกเมื่อไรก็ได้ และเมื่อสละมรดกแล้วให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
การสละมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อได้สละมรดกแล้วทรัพย์สินส่วนที่สละไปย่อมตกไปเป็นของผู้สืบสันดานของคนสละมรดก



             ที่มา : http://www.lawyerthai.com/articles/people/006.php