ความทรงจำ

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ทะเบียนราษฏร์


 การทะเบียนราษฎร์ 
          บุตรเกิด ถ้าเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้ง ถ้าเกิดนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด
ชื่อบุตร ให้เจ้าบ้าน บิดา หรือมารดาแล้วแต่กรณี แจ้งชื่อบุตรพร้อมกับการแจ้งเกิด ถ้าจะเปลี่ยนชื่อให้แจ้งภายใน 6 เดือนนับแต่วันแจ้งชื่อครั้งแรก
          ย้ายบ้าน ให้ผู้ย้ายหรือผู้ที่เจ้าบ้านมอบอำนาจแจ้งออกจากบ้านเดิมภายใน 15 วัน และเมื่อไปอยู่บ้านใหม่ให้แจ้งภายใน 15 วันเช่นกัน
          คนตาย ถ้าในบ้านให้เจ้าบ้านแจ้ง ถ้าตายนอกบ้านให้ผู้ที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้ที่พบศพเป็นผู้แจ้ง ภายใน 24 ช.ม. นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ แจ้งที่ไหน กรณีบุตรเกิด ตั้งชื่อบุตร ย้ายบ้านหรือคนตาย ให้แจ้งดังนี้
         ในเขตเทศบาล : ให้แจ้งที่สำนักงานท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานเทศบาล
          นอกเขตเทศบาล : ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล (บ้านกำนัน) หรือสำนักทะเบียนที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง (เช่น เขตกรมทหาร)
           ความผิด 
ถ้าไม่แจ้งเกิดภายในกำหนดเวลา มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท
ถ้าไม่แจ้งการตายภายในเวลามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

         

  ที่มา : http://kanyatas.exteen.com/20071122/entry-1

การสมรส

หลักเกณฑ์การสมรส มีอยู่ ๔ ประการ คือ
       ๑. คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นชายอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเปินหญิง
       ๒. การสมรสจะต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจของชายและหญิง หากชายและหญิงสมรสกันโดยไม่ได้เกิดจากความยินยอมสมรสกัน การสมรสนั้นเป็นโมฆะ
       ๓. การอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจะต้องเป็นระยะเวลาชั่วชีวิต
       ๔. การสมรสจะต้องมีคู่สมรสเพียงคนเดียว
เงื่อนไขการสมรส
       ๑. ชายและหญิงต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แล้วทั้งสองคน หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นเป็น
โมฆียะตามมาตรา ๑๕๐๓
       ๒. ชายหรือหญิงต้องไม่เป็นคนวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
       ๓. ญาติสนิทสมรสกันไม่ได้ ญาติสนิทมี ๔ ประเภท คือ
              (๑) ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป คือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
              (๒) ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
              (๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
               (๔) พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา
ผลของการฝ่าฝืนทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
ข้อสังเกต ญาติสนิทถือตามความเป็นจริง
        ๔. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ หากฝ่าฝืนการสมรสนั้นก็ยังคงสมบูรณ์ มีผลเพียงการรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนตามมาตรา ๑๔๕๑ เท่านั้น
         ๕. ชายหรือหญิงมิได้เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืนเป้นการสมรสซ้อนทำให้การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕
         ๖. ชายหรือหญิงยินยอมเป็นสามีภรรยากัน หากไม่มีเจตนาที่จะทำการสมรสกันจริงๆ การสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๔๙๕ และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างชายหรือหญิงนั้นเป็นโมฆะได้ตามมาตรา ๑๔๙๖ วรรคสอง
        ๗. หญิงหม้ายจะสามารถใหม่ได้ต่อเมื่อเวลาไม่น้อยกว่า ๓๑๐ วัน นับแต่วันที่ขาดจากการสมรสเดิมได้ล่วงพ้นไปเสียก่อน (มาตรา ๑๔๕๓) แต่มีข้อยกเว้นให้หญิงหม้ายทำการสมรสได้ ๔ ประการคือ
               (๑) หญิงนั้นได้คลอดบุตรแล้ว
               (๒) หญิงนั้นสมรสกับสามีคนก่อน
                (๓) มีใบรับรองแพทย์ว่าหญิงนั้นมิได้ตั้งครรภ์
                (๔) มีคำสั่งศาลให้หญิงนั้นทำการสมรสได้
การสมรสที่ฝ่าฝืนนี้สมบูรณ์และบุตรที่เกิดมาภายใน ๓ๆ วัน นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ตามมาตรา ๑๕๓๗
        ๘. ผู้เยาว์จะทำการสมรสได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
แบบของการสมรส
          การสมรสจะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น เมื่อได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วก็เป็นสามีภรรยากันตามกฎหมายทันทีตามมาตรา ๑๔๕๗


     ที่มา: http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

บุตรที่ชอบด้วยกฏหมาย


          เด็กเกิดจากหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นบุตรนอกสมรสของชาย มีทางช่วยเปลี่ยนฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้นั้น มี 3 วิธี ด้วยกัน คือ
          1) บิดาจดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก การจดทะเบียนสมรสทำให้ลูกทุกคนที่เกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดต่อไปมีฐานะเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่วันที่บิดามารดาจดทะเบียนสมสรกัน
           2) ให้บิดาของเด็กจดทะเบียนรับรองบุตร  วิธีกรณีที่ชายไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับแม่เด็กได้ เพราะมีคู่สมรสแล้ว หรือมีเมียหลายคนไม่อยากจดทะเบียนกับใครเลย ถ้าจดทะเบียนรับรองบุตรให้เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายต้องให้เด็กและมารดาเด็กยินยอม กฎหมายไม่ได้บังคับว่าคู่สมรสของฝ่ายชายต้องยินยอมด้วย
          3) ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร  ถ้าชายไม่ยอมจด หรือฝ่ายฃายอยากจดแต่มารดาเด็กไม่อาจยินยอมได้ เพราะตาย หรือสูญหาย เพื่อจะได้มีสิทธิรับมรดก  (อายุความ 1 ปี นับแต่เด็กบรรลุนิติภาวะ)
การฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตร ต้องมีเหตุอ้างอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
           1) หญิงมารดาถูกข่มขืนในระยะเวลาซึ่งอาจตั้งครรภ์ได้
            2) หญิงมารดาถูกลักพาไปในทางชู้สาว
            3) มีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กเป็นบุตร
             4) บิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดเอง หรือยินยอมให้แจ้งในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตร
             5) บิดามารดาอยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผย
             6) ได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงอาจตั้งครรภ์ได้ ควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น
              7) มีพฤติกรรมที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร


กรณีตัวอย่าง
          สมศักดิ์สามีของสมศรีเป็นคนเจ้าชู้มาก มีเมียหลายคน และ มีลูกกับทุกเมีย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับใคร ลูกของสมศรีใช้นามสกุลของพ่อเด็กในใบเกิด สมศักดิ์มีเมียทีไร ก็จะปลูกบ้านให้อยู่ และยกให้เมียและลูกนั้น  ส่วนของสมศรีก็เช่นกันแต่ไม่ได้ยกให้เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนของลูกเมียคนอื่นเขาได้ยกให้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วในกรณีนี้ ลูกของสมศรี ถือได้ว่าเป็นบุตรนอกสมรส  การที่จะทำให้ลูกของสมศรีเปลี่ยนฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายได้นั้น  สามารถเลือกจะทำได้ 3 วิธี ที่กล่าวแล้วข้างต้น เว้นสามีไม่ยินยอม ทำทั้งกรณีที่ 1 และ 2  ก็ใช้วิธีการที่ 3 คือ ร้องขอต่อศาล
           สำหรับเรื่องบ้าน ที่อยู่ก็ขอให้สามีดำเนินการยกให้ถูกต้อง เพราะหากเมื่อสามีเสียชีวิตทรัพย์สินทั้งหมดก็จะกลายเป็นมรดกซึ่งต้องแบ่งให้ทายาทเท่ากัน(ดูเรื่องมรดกที่ได้เขียนไว้แล้ว)



 ที่มา :  http://www.oknation.net/blog/watcharakorn/2007/04/23/entry-1

การหมั้น


เงื่อนไขของการหมั้น มีอยู่ ๒ ประการ
        ๑. อายุของคู่หมั้น (มาตรา ๑๔๓๕) ชายและหญิงคู่หมั้นต้องมีอายุอ ๑๗ ปีบริบูรณ์ หากฝ่าฝืนตกเป็นโมฆะ
         ๒. ความยินยอมของบิดามารดา (ได้รับความยินยอมทั้งบิดาและมารดาแม้บิดามารดาจะแยกกันอยู่ก็ตาม) หรือผู้ปกครอง (มาตรา ๑๔๓๖) การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเป็นโมฆียะ
แบบของสัญญาสัญญาหมั้น
         หลัก การหมั้นต้องมีของหมั้นมิฉะนั้นการหมั้นไม่สมบูรณ์ (มาตรา ๑๔๓๗)
การหมั้น จะต้องเป็นการที่มีการนำของหมั้นไปมอบให้ฝ่ายหญิง แต่หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
         ของหมั้น เป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น เมื่อหมั้นแล้วของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที
ลักษณะสำคัญของของหมั้น
       ๑. ต้องเป็นทรัพย์สิน
        ๒. ต้องเป็นของฝ่ายชายให้ไว้แก่หญิง
        ๓. ต้องให้ไว้ในเวลาทำสัญญาและหญิงต้องได้รับไว้แล้ว
        ๔. ต้องเป็นการให้ไว้เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น และต้องให้ไว้ก่อนสมมรส (ถ้าให้หลังสมรสก็ไม่ใช่ของหมั้น)
ลักษณะของสินสอด
         (๑) ต้องเป็นทรัพย์สิน
         (๒) ต้องเป็นของฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง
         (๓) ให้เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส
สินสอดไม่ใช่สาระสำคัญของการหมั้นหรือการสมรส ชายหญิงทำการหมั้นและสมรสกันได้โดยไม่ต้องมีสินสอด แต่ถ้าได้มีการตกลงกันว่าจะให้สินสอดแก่กัน ฝ่ายหญิงย่อมฟ้องเรียกสินสอดได้
การที่หญิงยอมสมรสถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
 ดังนั้น ฝ่ายชายจึงมีสิทธิเรียกสินสอดกันได้ใน ๒ กรณี
          ๑. กรณีไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง
          ๒. กรณีไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ
ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีการสมรสอันเนื่องมาจากกรณีที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นตายก่อนจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอด (มาตรา ๑๔๔๑)  อายุความฟ้องเรียกสินสอดคืนใช้อายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐
การผิดสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
         ๑. การหมั้นไม่เป็นเหตุฟ้องร้องบังคับให้สมรสได้
          ๒. เมื่อมีการผิดสัญญาหมั้นจะต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนกันตามมาตรา ๑๔๓๙ โดยเรียกค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๐ ดังนั้น ค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นจะมีได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๔๐ ใน ๓ กรณี คือ
                ๒.๑ ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายและหญิงนั้น
                ๒.๒ ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำในฐานะเช่นเดียวกับบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
                 ๒.๓. ค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นเกี่ยวแก่อาชีพหรือการทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
ถ้าชายผิดสัญญาหมั้น หญิงไม่ต้องคืนของหมั้น แต่หากหญิงผิดสัญญาหมั้น หญิงก็ต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย
การระงับสิ้นไปแห่งสัญญาหมั้นและค่าทดแทน
    ๑. คู่สัญญาหมั้นทั้ง ๒ ฝ่าย ตกลงยินยอมเลิกสัญญา
   ๒. ชายคู่หมั้นหรือหญิงคู่หมั้นถึงแก่ความตาย
    ๓. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาหมั้นเนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่คู่หมั้น
            - ใช้เหตุเดียวกับเหตุหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ ส่วนเหตุอื่นนอกเหนือจากเหตุหย่าก็ถือเป็นเหตุสำคัญได้ เช่น คู่หมั้นถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย หรือถูกศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เป็นต้น
            - โดยหลักแล้วไม่ว่าฝ่ายชาหรือหญิงเลิกสัญญาหมั้นเพราะเหตุสำคัญอันเกิดจากหญิงหรือชายคู่หมั้น ฝ่ายชายหรือหญิงจะเรียกค่าทดแทนจากกันไม่ได้ แต่หากเหตุที่เกิดปก่คู่หมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นฝ่ายนั้นตามมาตรา ๑๔๔๔ ยกเว้นไว้ว่าคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
                 ๓.๑ ชายบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น
เหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น เช่น หญิงยินยอมให้ชายอื่นร่วมประเวณีในระหว่างการหมั้น หญิงวิกลจริตหรือได้รับอันตรายสาหัสจนพิการ หรือเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรง เป็นต้น ผลคือ ชายเรียกของหมั้นคืนได้และหญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย
                  ๓.๒ หญิงบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น
เหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น เช่น ชายไร้สมรรถภาพทางเพศ เป็นคนวิกลจริตหรือพิการ เป็นนักโทษและกำลังรับโทษอยู่ ร่วมประเวณีกับหญิงอื่น ไปเป็นชู้กับภริยาคนอื่น ข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่น เป็นต้น นอกจากนี้แม้เหตุสำคัญดังกล่าวจะมาจากความผิดของหญิงคู่หมั้น หญิงคู่หมั้นก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ผลของการบอกเลิกสัญญาหมั้นหญิงไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ชาย

ค่าทดแทนในการเลิกสัญญาหมั้น
         ๑. ค่าทดแทนที่คู่หมั้นเรียกจากกันในกรณีบอกเลิกสัญญาหมั้นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นเหตุที่ทำให้ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนจะต้องเกิดขึ้นหลังการหมั้น หากเกิดขึ้นก่อนทำสัญญาหมั้นก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ คู่สัญญาหมั้นมีสิทธิเพียงแต่บอกเลิกสัญญาหมั้นโดยอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้น จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
          ๒. ค่าทดแทนจากชายอื่นหรือหญิงอื่นที่ล่วงเกินหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้นทางประเวณี
                  ๒.๑ กรณีที่คู่หมั้นยินยอมร่วมประเวณีกับชายอื่นหรือหญิงอื่นนั้น
                            (๑) เรียกค่าทดแทนได้ต่อเมื่อชายหรือหญิงคู่หมั้นได้ บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา ๑๔๔๒ หรือมาตรา ๑๔๔๓ แล้ว
                            (๒) ชายอื่นหรือหญิงอื่นจะต้องรู้หรือควรรู้ว่าชายหรือหญิงนั้นได้หมั้นแล้ว
                  ๒.๒ กรณีบุคคลอื่นข่มขืนหรือพยายามข่มขืนการกระทำชำเราหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้น
                              (๑) คู่หมั้นไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นด้วย
                              (๒) ไม่ใช่เป็นเรื่องของการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง คู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงคู่หมั้นหรือชายคู่หมั้นไม่ได้ตามมาตรา ๑๔๔๔ ไม่ได้
                              (๓) คู่หมั้นจะเรียกค่าทดแทนจากบุคคลอื่นที่มาข่มขืนหรือพยายามข่มขืนคู่หมั้นตนได้ บุคคลอื่นนั้นจะต้องรู้หรือควรจะรู้ว่าหญิงหรือชายมีคู่หมั้นแล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคู่หมั้นเป็นใคร


       
                 ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

การหย่า


            การหย่าร้าง หมายถึง การสิ้นสุดของชีวิตคู่ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้ หรือมีเหตุผลทางสังคมอย่างอื่น      การหย่าร้างของคู่สมรส ของคู่จดทะเบียนสมรสมี 2 แบบ คือ การหย่าโดยความยินยอมทั้งสองฝ่าย และการหย่าโดยการฟ้องหย่า     การหย่ามีอยู่ ๒ กรณีคือ

๑. การหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย
(๑) ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย ๒ คน ตามมาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง
(๒) ต้องได้มีการจดทะเบียนหย่าตามมาตรา ๑๕๑๕ จึงจะสมบูรณ์
๒. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล
การฟ้องหย่าต้องอาศัยเหตุการหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ มีเหตุ ๑๒ ประการ ดังนี้
         ๒.๑ สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ
           ๒.๒ สามีหรือภริยาประพฤติชั่วไม่ว่าจะมีความผิดอาญาหรือไม่ ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง
                      (๑) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
                      (๒) ได้รับการดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่ยังคงเป็นสามีหรือภริยาที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป
                      (๓) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีหรือภริยามาคำนึงประกอบ
           ๒.๓ สามีหรือภริยาทำร้ายหรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นการร้ายแรง
           ๒.๔ สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน ๑ ปี 
           ๒.๕ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
            ๒.๖ เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา ๑๕๑๖ (๔/๒) แบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
                      (๑) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปี    ข้อสังเกต ต้องเกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายมิใช่สมัครใจฝ่ายเดียว
                       (๒) แยกกันอยู่ตามคำสั่งศาลเกิน ๓ ปี
             ๒.๗ สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
              ๒.๘ สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน ๑ ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร 
               ๒.๙ สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
               ๒.๑๐ สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
               ๒.๑๑ สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้
               ๒.๑๒ สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล 

เหตุหย่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นเหตุ ๔ ประการนี้จะอ้างเหตุหย่าไม่ได้ คือ
(๑) สามีหรือภริยารู้เห็นหรือยินยอมให้ภริยาหรือสามีอุปการะหญิงหรือชายอื่น เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่น หรือรู้เห็นหรือยินยอมหรือร่วมในการที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วนั้น
(๒) สามีหรือภริยาไม่สามารถร่วมประเวณีได้ตลอดกาลเพราะการกระทำของอีกฝ่าย
(๓) การทำผิดทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข
(๔) ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยแล้ว 
ผลของการหย่า
๑. การใช้อำนาจปกครองบุตรหลังการหย่า (มาตรา ๑๕๒๐) แบ่งออกเป็น ๒ กรณี
           ๑.๑ กรณีการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย เป็นไปตามข้อตกลงว่าใครจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรโดยข้อตกลงดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือ จะตกลงกันด้วยวาจาไม่ได้
            ๑.๒ การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ศาลเป็นผู้ชี้ขาดว่าสามีหรือภริยาฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร โดยต้องคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรนั้นเป้นสำคัญ
๒. การอุปการะเลี้ยงดูบุตรหลังการหย่า
         - การที่สามีและภริยาคู่หย่าทำความตกลงกันไว้ในสัญญาหย่าว่าฝ่ายใดจะออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นเงินเท่าใดแล้ว หากต่อมาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระตามที่ตกลงกันไว้ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้องเรียกให้จ่ายเงินดังกล่าวที่ค้างชำระตามสัญญา และที่จะต้องชำระต่อไปในอนาคตตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้
          - กรณีที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าฝ่ายใดมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใด หากคู่หย่าคนใดได้ออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไปจำนวนเท่าใด ก็มีสิทธิเรียกให้ภริยาหรือสีอีกฝ่ายชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูที่ตนได้ออกไปก่อนนับแตวันหย่าจนกระทั่งบุตรบรรลุนิติภาวะได้ เพื่อแบ่งส่วนความรับผิดในฐานะที่เป็นลูกหนี้ร่วมและเข้าใช้หนี้นั้น
           - อายุความฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์มีอายุความ ๕ ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ในกรณีที่บิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูไปฝ่ายเดียวก็มีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากอีกฝ่ายนับแต่วันที่ตนได้ชำระไป ซึ่งถือว่าเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามมาตรา ๑๙๓/๓๓ (๔) ประกอบมาตรา ๑๙๓/๑๒
๓. การเรียกค่าทดแทน
         ในการที่ศาลพิพากษาให้สามีภริยาหย่าขาดจากกันเพราะเหตที่มีการล่วงเกินในทางประเวณีนั้น สามีหรือภริยาผู้เป็นโจทก์มีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนซึ่งอาจจะแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี คือ
            ๓.๑ ภริยาประพฤตินอกใจสามีโดยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องชายอื่นฉันสามี มีชู้หรือร่วมประเวณีกับชายอื่นเป็นอาจิณหรือมีการล่วงเกินกับชายอื่นในทำนองชู้สาว
            ๓.๒ สามีประพฤตินอกใจภริยาโดยอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เป็นชู้ หรือร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณ หรือสามีไปมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นในทำนองชู้สาว
ข้อสังเกต ผู้เรียกค่าทดแทนจะต้องไม่รู้เห็นเป็นใจด้วย หากรู้เห้นเป็นใจด้วยก็จะเรียกค่าทดแทนไม่ได้ ตามมาตรา ๑๕๒๓ วรรคท้าย

๔. การเรียกค่าเลี้ยงชีพ
             ๔.๑ การหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายเดียวและการหย่านี้จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง หากประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๓ ประการ นี้ ก็เรียกค่าเลี้ยงชีพได้
                  (๑) เหตุแห่งการหย่านั้นเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายที่ถูกเรียกร้องแต่ฝ่ายเดียว
                  (๒) การหย่านั้นจะทำให้คู่สมรสฝ่ายที่เรียกค่าเลี้ยงชีพต้องยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากแรงงานที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส
                   (๓) คู่สมรสฝ่ายที่จะเรียกร้องค่าเลี้ยงชีพจะต้องฟ้องหรือฟ้องแย้งเรียกค่าเลี้ยงชีพในคดีฟ้องหย่านั้น
             ๔.๒ กรณีการหย่าขาดจากกันเพราะเหตุวิกลจริตหรือโรคติดต่ออย่างร้ายแรง
             ๔.๓ กรณีคู่หย่าตกลงชำระค่าเลี้ยงชีพกันเอง
ข้อสังเกต สัญญานี้เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา ๑๕๒๖ ไม่ใช่สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างเป็นสามีภริยากันตามมาตริ๑๔๖๙ สามีหรือภริยาจึงไม่มีสิทธิอ้างมาตรา ๑๔๖๙ มาเป็นเหตุบอกล้างสัญญานี้ได้
             ๔.๔ การเลิกชำระค่าเลี้ยงชีพ
             ๔.๕ สิทธิที่จะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละหรือโอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
ผลของการหย่า
การแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา 
เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา ในระหว่างสามีภริยากฎหมายกำหนดให้
(๑) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ให้จัดแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(๒) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้นมีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า

     
         
               ที่มา : http://www.siamjurist.com/forums/1587.html

พินัยกรรม


พินัยกรรมคืออะไร?

            พินัยกรรม คือ หนังสือที่เจ้าของมรดกได้ทำขึ้นไว้ เพื่อแสดงเจตนาว่าเมื่อตนตายไปแล้วต้องการให้ทรัพย์สินต่างๆ ตกเป็นของใคร หรือตั้งให้ใครเป็นผู้จัดการมรดก โดยพินัยกรรมจะมีผลก็ต่อเมื่อเจ้าของมรดกได้ตายไปแล้ว ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้พินัยกรรมต้องทำตามแบบ หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดพินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะ

กฎหมายกำหนดแบบของพินัยกรรมไว้กี่แบบ?

กำหนดไว้ 5 แบบดังนี้
1. พินัยกรรมแบบธรรมดา 
2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ        
3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง  
4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
5. พินัยกรรมแบบที่ทำด้วยวาจา



            ที่มา : http://www.lawfirm.in.th/legacy.html

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา


      ปัจจุบันเรามักมีข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางโทรทัศน์ว่า มีการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นประจำ โดยผู้กระทำเป็นผู้ใหญ่บ้างและเด็กบ้าง  ขณะเดียวกันผู้เสียหายอาจมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กเช่นเดียวกัน การข่มขืนกระทำชำเรานั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 276 ซึ่งบัญญัติว่า  “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใดโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
     จะเห็นได้ว่า หลักกฎหมายของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอยู่ที่มาตรา 276 วรรค 1  ส่วนวรรค เป็นบทเพิ่มโทษ   ถ้าการกระทำความตามวรรคแรกของมาตรา 276  ได้กระทำโดยมีหรือให้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง
     การข่มขืนกระทำชำเรา คือ การร่วมเพศโดยฝ่าฝืนต่อความยินยอมของหญิง หากหญิงยินยอมย่อมไม่เป็นความผิด เว้นแต่หญิงนั้นอายุยังไม่เกิน 15 ปี ถึงหญิงนั้นยินยอมก็เป็นผิดตามมาตรา 277  กรณีต่อไปนี้ไม่ถือว่าหญิงยินยอม เช่น หญิงกำลังหลับหมดสติ หรือเป็นคนวิกลจริต หรือคนที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ หรือโดยการทำให้หญิงเข้าใจผิดว่า ตนเองเป็นบุคคลอื่น เช่น ทำหญิงเข้าใจว่าตนเองเป็นสามีหญิงหรือคนรักของหญิง เช่น เพื่อนของคนรักหญิงมาร่วมงานเลี้ยงที่บ้านของหญิง และนอนค้างบ้านของหญิงด้วย ตกดึก เพื่อนของคนรักหญิงเห็นหญิงกำลังหลับจึงเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราหญิง โดยทำให้หญิงเข้าใจว่าเป็นคนรักของตนเอง เป็นต้น ส่วนแค่ไหนเพียงใดจึงจะถือว่าหญิงไม่ยินยอมนั้น ศาลอเมริกันถือว่าต้องมีการขัดขืนที่สุด (resist to the utmost) ต่อมาศาลได้ผ่อนคลาย หลักเกณฑ์ลงมาโดยเห็นว่าการขัดขืนเพื่อแสดงว่าไม่ได้ยินยอมไม่จำเป็นต้องขัดขืนถึงที่สุด การขัดขืนต้องเป็นไปตามสถานการณ์แต่ละกรณี เพราะถ้าหญิงขัดขืนมากจนเกินไป  หญิงอาจถูกผู้ข่มขืนกระทำชำเราฆ่าก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามการขัดขืนจะมีการกระทำอะไรที่มากกว่าการกล่าวปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมด้วยวาจาเท่านั้น ในขณะเดียวกันกรณีที่แพทย์กระทำชำเราคนไข้หญิงโดยทำให้หญิงเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่การร่วมเพศ ย่อมไม่ถือว่าหญิงให้ความยินยอมในการร่วมเพศ หากหญิงรู้ว่าการกระทำมีลักษณะเป็นการร่วมเพศ และหญิงถูกหลอกในมูลเหตุที่ทำให้หญิงยินยอม ย่อมถือว่าหญิงยินยอมในการร่วมเพศด้วย เช่น ชายหลอกคนรักว่าหากหญิงยอมหลับนอนจะให้พ่อแม่มาสู่ขอ หรือแต่งงานด้วย หญิงจึงหลับนอนกับชาย กรณีเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนความยินยอมของหญิง
     การกระทำชำเรา คือ การร่วมประเวณี หรือการกระทำร่วมเพศ คือ การที่ชายเอาอวัยวะเพศของตนเองสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของหญิง แม้เพียงเล็กน้อย และไม่จำเป็นต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิ ก็เป็นความผิดสำเร็จ
     ตามประมวลกฎหมายอาญา ผู้กระทำต้องเป็นชาย และผู้ถูกกระทำต้องเป็นหญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาของชาย หากหญิงเป็นภรรยาของชายและไม่ยอมร่วมเพศกับชายผู้เป็นสามี   สามีใช้กำลังบังคับข่มขืนกระทำชำเราภรรยา ชายผู้เป็นสามีไม่มีความผิด เรียกว่า marital exception หรือข้อยกเว้นความผิดอันเนื่องมาจากการสมรส ซึ่งกล่าวกันว่า เกิดจากข้อเขียนของ Sir Matthew Hale ซึ่งเป็นประธานศาลสภาขุนนางของอังกฤษ (Lord Chief Justice) ระหว่างปี ค.ศ. 1671 ถึง 1676 ที่ว่า
     (1) การที่หญิงแต่งงานกับชายย่อมหมายความว่าหญิงได้ให้ความยินยอมแก่สามีในการที่ร่วมเพศกัน  โดยความยินยอมนั้นไม่อาจเพิกถอนได้ (irrevocable consent to intercourse) 
     (2) ภรรยาถือว่าเป็นทรัพย์ (chattle) ของผู้เป็นสามี
     (3) สามีและภรรยาเป็นบุคคลเดียวกัน ดังนั้น สามีจึงไม่อาจข่มขืนกระทำชำเราตนเอง
     ตามกฎหมาย  แม้ชายจะไม่สามารถกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเองก็ตาม แต่ไม่ได้หมายว่าสามีไม่อาจเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนเอง เช่น ชายสามีจับแขนขาของภรรยาของตนไว้ และให้ชายอื่นข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามิได้จำกัดว่าให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น   แม้จำเลยจะเป็นหญิงเมื่อฟังว่าสมคบร่วมกันก็ลงโทษเป็นตัวการได้  (ฎีกา 250/2510) นอกจากนี้ สามีหรือหญิงอื่นอาจเป็นผู้สนับสนุนในการที่ให้ความช่วยเหลือให้ชายอื่นมาข่มขืนกระทำชำเราภรรยาของตนได้
     อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 0991  ศาลอุทธรณ์ของอังกฤษได้ตัดสินยกอุทธรณ์ของชายผู้หนึ่งซึ่งถูกตัดสินโทษฐานพยายามข่มขืนภริยาของตนเองซึ่งแยกกันอยู่ในคดีนี้มีผู้พิพากษาทั้งหมด 5 นาย  ได้ทำคำพิพากษา   โดยประธานศาลสภาขุนนางได้ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ที่กระทำชำเราผู้อื่นก็ยังคงเป็นผู้กระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราอยู่ตลอดเวลาโดยไม่คำนึงว่าผู้ข่มขืนกระทำชำเราจะมีความสัมพันธ์กับหญิงผู้เสียหายไม่ว่าในสถานะใด ๆ ก็ตาม ศาลยังให้ข้อสังเกตต่อไปว่าหลักการที่มีอายุเก่าแก่หลายศตวรรษไม่ได้เป็นหลักกฎหมายเช่นว่านั้นอีกต่อไปแล้ว  เมื่อคำนึงถึงสถานะของหญิงในสมัยปัจจุบัน
      ในส่วนเจตนานั้น ผู้กระทำความผิดนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมาย ตามกฎหมายอเมริกัน ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามักบัญญัติว่าจำเลยต้องมีเจตนาเฉพาะ (specific intent) ที่จะข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งจำเลยอาจนำสืบว่าจำเลยไม่สามารถมีเจตนาเฉพาะที่จะข่มขืนกระทำชำเราได้ เนื่องจากจำเลยมึนเมาจากการเสพสุราด้วยความสมัครใจ แต่บางมลรัฐก็กำหนดว่าถ้าจำเลยมีเจตนาทั่วไป (general intent) ก็เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงโดยฝ่าฝืนความยินยอมของหญิงได้
      นอกจากนี้แม้หญิงจะยินยอมให้กระทำชำเรา ชายที่ชำเรากับหญิง โดยหญิงยินยอมก็เป็นความผิดได้ ถ้าหญิงมีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี และหญิงนั้นมิใช่ภริยาของชาย
      ปกติหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่น่าจะทำการสมรสได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448  ซึ่งบัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์  แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร  ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้น”    เพราะฉะนั้นการที่หญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นภริยาชายอาจเป็นกรณีที่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นกรณีพิเศษตามข้อความตอนท้ายของมาตรา 1448นี้  และที่สำคัญหญิงต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาของหญิง แต่กฎหมายอเมริกา  ชายจะชำเราด้วยหญิงที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้เลยทีเดียวแม้หญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม  สำหรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำที่ชายไม่อาจกระทำชำเรากับหญิงนั้น เริ่มตั้งแต่16, 17 หรือ 18 ปี  สุดแล้วแต่กฎหมายของแต่ละมลรัฐกำหนดไว้  นอกจากนี้บางมลรัฐยังกำหนดว่าหญิงต้องเป็นหญิงพรหมจารี  ผลคือว่าหญิงที่เป็นเด็กไม่อาจให้ความยินยอมที่สมบูรณ์ในการร่วมเพศกับชาย  ซึ่งความผิดที่เกิดจากการที่ชายกระทำชำเราด้วยเด็กหญิงนี้มีชื่อเรียกว่า statutory rape บางมลรัฐถือว่าความผิด statutory rape  เป็นความผิดเด็ดขาด (strict liability)  กล่าวคือจำเลยไม่สามารถจะแก้ตัวว่าจำเลยไม่ทราบว่าหญิงมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  และถึงแม้จำเลยจะเข้าใจผิดว่าหญิงมีอายุเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ตาม   หรือจำเลยจะใช้ความพยายามตามสมควรในการสอบถามอายุของหญิง และหญิงจะโกหกชายก็ตาม จำเลยก็มีความรับผิดตามกฎหมาย แต่ก็มีบางมลรัฐยอมให้ยกเอาความสำคัญในเรื่องอายุของหญิงขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้  แต่ก็เป็นแต่มลรัฐส่วนน้อย
      เหตุผลที่กฎหมายเอาผิดกับชายที่ชำเรากับหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี  ตามกฎหมายไทย  หรือตามกฎหมายอเมริกัน ซึ่งกำหนดอายุของหญิงไว้สูงกว่ากฎหมายไทย เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐไม่ประสงค์ที่จะให้ชายที่ร่วมเพศกับหญิงที่มีอายุยังน้อยและไม่รู้จักวิธีป้องกันมิให้เกิดการตั้งครรภ์อันเกิดจากการร่วมเพศ และกลายเป็นมารดาเด็กในขณะที่อายุยังเยาว์วัยโดยยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็นมารดาเด็ก  นอกจากนี้หากหญิงเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ หญิงอาจหาทางออกด้วยการทำแท้งซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดาและตัวหญิงเอง  หากหญิงไปลักลอบทำแท้งกับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางแพทย์หรือถึงแม้ผู้นั้นจะเป็นแพทย์ก็ตาม  แพทย์ก็ไม่มีสิทธิทำแท้งให้หญิงเพราะหากมีการทำแท้ง  แพทย์ผู้ทำแท้งรวมทั้งหญิงยอมให้ผู้อื่นที่ทำแท้ง ก็มีความผิดตามกฎหมายอาญา
      ตามกฎหมายอเมริกัน  หญิงซึ่งร่วมเพศกับเด็กชายอายุไม่เกิน 16 ปี ก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน  ดังนั้นความผิดฐาน Statutory rapeอาจเป็นกรณีที่ชายที่มีอายุมากกว่าหญิงร่วมเพศกับเด็กหญิงซึ่งยังเยาว์วัยหรืออาจเป็นกรณีหญิงที่มีอายุมากกว่าชายโดยชายเป็นเด็กชายอายุไม่เกิน 16ปี
      อย่างไรก็ตามในสหรัฐอเมริกาก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ห้ามการกระทำชำเรากับเด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด  โดยผู้ที่เห็นแย้งมีความเห็นว่ากฎหมายห้ามการชำเรากับเด็กหญิงมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตทางเพศในโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เห็นว่าการลงโทษผู้ที่ชำเรากับเด็กหญิงเป็นการขัดต่อเสรีภาพในการเลือกใช้สิทธิส่วนตัวของหญิงที่มีอายุอยู่ในช่วงปลายของวัยรุ่น  นอกจากนี้ยังมีการชี้ว่ามักไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมายการห้ามชำเรากับเด็กหญิง  การบังคับใช้กฎหมายจะมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติตามกฎหมายการห้ามชำเรากับเด็กหญิง  การบังคับใช้กฎหมายจะมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติเนื่องจากสีผิวและชนชั้นในสังคม  ถึงกระนั้นก็ตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามชำเรากับเด็กหญิงก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
      เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองหญิงที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรา  มลรัฐต่าง ๆ ได้ตรากฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายเกราะคุ้มครองผู้ถูกข่มขืนกระทำชำเราหรือ rape shield law กฎหมายฉบับนี้ห้ามมิให้จำเลยนำสืบพฤติกรรมทางเพศของผู้เสียหายกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายก่อนที่มีการข่มขืนกระทำชำเรา  กฎหมายบางฉบับบังคับว่าพยานหลักฐานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับความยินยอมของผู้เสียหายในคดีหรือไม่
      นอกจากมลรัฐต่าง ๆ ได้ตรากฎหมายที่เรียกว่า Megan’s Law  เพื่อเป็นการระลึกถึง Megan Kanda  เป็นเด็กหญิงอายุ ขวบ  ถูกข่มขืนและฆ่า ในปี ค.ศ. 1994  โดย Jesse Timmendeguas Jesse  มีประวัติการกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กหลายครั้ง ประชาชนมลรัฐนิวเจอซี่ได้เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติของมลรัฐตรากฎหมายมาบังคับให้ผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับเพศและพ้นโทษแล้ว  จะต้องลงทะเบียนไว้กับสำนักงานผู้รักษากฎหมาย  การไม่ลงทะเบียนเป็นความผิดทางอาญา สำนักงานผู้รักษากฎหมายจะต้องนำข้อมูลนี้ไปให้สาธารณชนรับทราบ  เมื่อพ้น 15 ปี แล้วปรากฏว่าผู้ลงทะเบียนไม่ได้กระทำความผิดทางเพศ  ผู้ลงทะเบียนอาจร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลตัดตนเองออกจากการเป็นผู้มีสถานภาพเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศ
      สรุป  ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรามักจะมีการกระทำที่มีความผิดฐานอื่นรวมอยู่ด้วยในตัวมันเอง  เช่น ความผิดต่อเสรีภาพ เพราะมีการบังคับให้หญิงจำยอมให้ชายกระทำชำเรา นอกจากนี้ยังมักจะมีการทำร้ายร่างกายของหญิง หรือมีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายต่อหญิง ทำให้หญิงได้รับความปวดร้าวใจยิ่งกว่าการบาดเจ็บทางกาย จึงเห็นว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่น่าจะเป็นความผิดอันยอมความได้  นอกจากนี้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไม่ควรจะจำกัดเฉพาะกรณีที่ชายทำต่อหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตนเองเท่านั้น  หญิงอาจบังคับให้ชายกระทำชำเราตนเองอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความยินยอมของชาย หรืออาจเป็นการที่หญิงกระทำต่อหญิงหรือชายทำต่อชายก็ได้  เช่น ชายที่ผ่าตัดแปลงเพศเป็นหญิง  ก็อาจถูกชายอื่นข่มขืนกระทำชำเราได้  การข่มขืนกระทำชำเราไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำต่ออวัยวะเพศของหญิงเสมอไป  อาจเป็นการกระทำต่อทวารหนัก  หรืออาจเป็นการบังคับใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้ก็ได้  นอกจากนี้ตามกฎหมายอังกฤษ ชายอาจมีความผิดฐานข่มขืนภริยาของตนเองหากภริยาไม่ยอมร่วมเพศ  หากชายผู้เป็นสามีใช้กำลังบังคับข่มขืนภริยาของตน  ชายมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราภริยาของตน  ความคิดที่ว่าภริยาได้ให้ความยินยอมในการยินยอมให้ร่วมเพศด้วยตลอดกาลหลังจากการสมรสไม่เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้ภริยาไม่ได้ถือเป็นบุคคลคนเดียวกับสามีเพราะภริยาถือเป็นผู้มีตัวแยกต่างหากจากผู้เป็นสามี  ดังจะเห็นได้จากมีการแยกทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นสินส่วนตัวไม่ได้รวมกันดังเช่นในอดีต ทั้งหมดนี้เป็นวิวัฒนาการกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นข้อมูลที่อาจน่าพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย

            


        ที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=268309

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมรดก

“ตายแล้วไปไหน" แม้จะน่าสนใจ แต่ไม่มีใครตอบได้         “ตายแล้วทรัพย์สินไปไหน” แม้จะไม่สนใจ (เพราะบางคนอาจถือว่าเมื่อตายแล้วก็แล้วกันทรัพย์สินจะไปไหนก็ไม่ใช่เรื่องของตัวอีกต่อไป หรือบางคนไม่สนใจเพราะไม่มีทรัพย์สินอะไรที่จะให้ต้องเป็นห่วง ที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็ชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่แล้ว) แต่ก็น่าจะรู้ไว้ เพราะประโยชน์ที่จะได้รับนั้นไม่เพียงจะได้ใช้สำหรับเตรียมการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเอง แต่ยังจะเป็นประโยชน์ที่จะได้ติดตามดูว่าเมื่อคนอื่นตายไปแล้ว เราจะมีส่วนในทรัพย์สินหรือมรดกของคนอื่นนั้นได้ในกรณีใดบ้างเพราะใครจะไปรู้ จู่ ๆ มรดกเจ้าคุณปู่อาจจะตกมาถึงเราบ้างก็ได้

            ๑. กองมรดก คืออะไร


           กองมรดกคือทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน เสื้อผ้า หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัว แม้แต่ทองที่ครอบฟันไว้ ก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของผู้ตาย ซึ่งเมื่อบุคคลใดตายแล้วย่อมอยู่ในความหมายของกองมรดกด้วย


นอกจากทรัพย์สินแล้ว ยังรวมถึงบรรดาสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในวันที่ตายหรือที่จะมีขึ้นในวันข้างหน้าภายหลังจากที่ตายแล้วด้วยเช่นทำสัญญาเช่าบ้านมีกำหนดสิบปี เช่าไปได้สองปีแล้วเกิดตายลง สิทธิที่จะเช่าบ้านนั้นต่อไปอีก ๘ ปี ก็จะตกเป็นกองมรดก ในขณะเดียวกันหน้าที่หรือความรับผิดในการชำระค่าเช่าที่ค้างอยู่ก็ดี หรือที่จะชำระต่อไปในวันหน้าก็ดี ล้วนตกเป็นกองมรดกด้วยกันทั้งสิ้น


อย่างไรก็ตามบรรดาสิทธิ หน้าที่ หรือความรับผิด ที่ตามกฎหมายหรือโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย ย่อมตายตามตัวผู้ตายไปด้วย ไม่ตกทอดไปถึงทายาท เช่นทำสัญญาว่าจะไปเล่นลิเกให้ชมในอีกสิบวันข้างหน้า หรือไปตกลงรับจ้างวาดรูปไว้ แล้วเกิดตายเสียก่อนเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าโดยสภาพแล้วเป็นเรื่องเฉพาะตัว จะมากะเกณฑ์ให้ทายาทต้องไปเล่นลิเกแทนผู้ตายย่อมไม่ได้ แต่ถ้าบังเอิญผู้ตายไปรับเงินค่าตัวเขามาก่อนแล้ว ก็กลายเป็นหนี้ที่ทายาทจะต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้จ้าง


เมื่อกฎหมายกำหนดว่ากองมรดกนั้นประกอบไปด้วยทั้งทรัพย์สินและหน้าที่และความรับผิดด้วยเช่นนี้ มิกลายเป็นว่าถ้ากองมรดกมีหนี้มากกว่าทรัพย์สิน ทายาทที่จะรับมรดกไปมิต้องกลายเป็นลูกหนี้ไปด้วยหรือ เรื่องนี้กฎหมายมิได้ใจไม้ไส้ระกำถึงขนาดนั้น เพราะได้กำหนดไว้แล้วว่าไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ทายาทก็ไม่จำต้องรับผิดเกินทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน เรียกว่าอย่างแย่ที่สุดก็เพียงเสมอตัว คือไม่ได้อะไรเลย


ที่ว่าทรัพย์สินของผู้ตายนั้น ต้องเข้าใจว่าหมายถึงทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายจริง ๆ ไม่ใช่ทรัพย์สินทั้งหมดที่สามีภริยามีอยู่ร่วมกัน เมื่อบุคคลใดตายทรัพย์สินที่มีอยู่ระหว่างสามีภริยาจะต้องแยกออกจากกันเสียก่อน ส่วนของใครก็เป็นของของคนนั้น จะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่จะต้องยกเฉพาะส่วนที่เป็นของตนเท่านั้น ถ้าไม่มีพินัยกรรม และทรัพย์สินจะตกได้แก่ทายาทโดยธรรม ทรัพย์สินที่จะตกไปย่อมจำกัดอยู่แต่เฉพาะส่วนที่เป็นของผู้ตาย ไม่รวมถึงส่วนที่เป็นของคู่สมรสด้วย


เมื่อคู่สมรสคนหนึ่งตายไป การสมรสย่อมสิ้นสุดลง ทรัพย์สินที่ทั้งสองมีอยู่ด้วยกันย่อมแยกออกจากกันโดยผลของกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงทรัพย์สินทั้งหมดจะยังอยู่รวม ๆ กัน บางชิ้นก็เป็นชื่อของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินนั้นจะเป็นของคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว



การที่คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ได้รับทรัพย์สินส่วนของตนแยกมา มิได้หมายความว่าคู่สมรสดังกล่าวได้รับมรดก หากแต่เป็นการได้ทรัพย์สินของตนคืนมา ส่วนของผู้ตายนั้น คู่สมรสจึงจะไปรับมาในฐานะมรดกอีกต่อหนึ่ง เช่น เมื่อสามีตาย มีเงินอยู่ในบัญชีของสามี ๑๐๐ ล้านบาท ถ้าเงิน ๑๐๐ ล้านบาทนั้นได้มาในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่ใช่เป็นสินส่วนตัวของสามี เมื่อสามีตาย เงิน ๑๐๐ ล้านจะถูกแบ่งระหว่างสามีและภริยาคนละ ๕๐ ล้าน ส่วนของสามี ๕๐ ล้านจะตกเป็นทรัพย์มรดก นำมาแบ่งกันในระหว่างผู้เป็นทายาท ซึ่งแม้ภริยาจะไม่ได้เป็นทายาท แต่ก็มีสิทธิได้รับมรดกเช่นเดียวกับทายาท เช่น ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และมีลูก ๔ คน เงิน ๕๐ ล้านนั้นจะแบ่งระหว่างภริยาและลูก ๆ คนละ ๑๐ ล้าน ตกลงภริยาจะได้เงิน ๖๐ ล้าน (คือ ๕๐ ล้านในฐานะที่เป็นทรัพย์สินของตนที่แยกออกมา และอีก ๑๐ ล้านในฐานะที่เป็นมรดก) และลูก ๆ ได้คนละ ๑๐ ล้าน

ถ้าผู้ตายเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินของท่านที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ท่านจะทำพินัยกรรมยกให้ใครก็ได้ แต่ถ้าท่านไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์สินเหล่านั้นจะตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของท่าน โดยจะไม่ตกไปยังทายาทโดยธรรมทั้งปวง แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ท่านมีอยู่ก่อนอุปสมบทย่อมตกไปเป็นของทายาทได้เช่นเดียวกับคนธรรมดาทั่วไป


                  ๒. ใครบ้างมีสิทธิได้รับมรดก


คนที่จะมีสิทธิได้รับมรดกแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ “ทายาทโดยธรรม” อันได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย ประเภทหนึ่ง และ “ผู้รับพินัยกรรม” ซึ่งได้แก่ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม อีกประเภทหนึ่ง


ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้ใคร ผู้รับพินัยกรรมย่อมได้รับมรดกตามนั้น และถ้าทำพินัยกรรมยกมรดกให้ใครหมดแล้ว ทายาทโดยธรรมก็จะไม่ได้รับมรดกเลย กล่าวโดยสรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมจะได้รับมรดกก็ต่อเมื่อไม่มีพินัยกรรมระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือถึงมีพินัยกรรมกำหนดไว้แล้วแต่ยังมีทรัพย์สินหลงเหลืออยู่ ทรัพย์สินที่หลงเหลืออยู่จึงจะตกไปถึงทายาทโดยธรรม


แต่ทายาทโดยธรรมอาจเป็นผู้รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมด้วยก็ได้ เช่น พ่อทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ลูก ๆ จนหมด ในกรณีนั้นลูก ๆ จะได้รับมรดกในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรม ส่วนในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรม ถ้าบังเอิญมีทรัพย์สินเหลืออยู่ ทรัพย์สินเหล่านั้นก็จะตกได้แก่ลูก ๆ ในฐานะทายาทโดยธรรมด้วย


คุณสมบัติเบื้องต้นของคนธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) ที่จะมีสิทธิได้รับมรดก ได้แก่ คนที่มีสภาพบุคคลแล้วในเวลาที่เจ้ามรดกตาย ซึ่งกฎหมายอธิบายว่า สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย ถ้าคลอดออกมาแล้วตายทันที ก็ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล แล้วเลยพลอยไม่มีสิทธิได้รับมรดกไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทารกที่ยังอยู่ในครรภ์มารดาในเวลาที่เจ้ามรดกตาย หากภายหลังเมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจึงคลอดออกมาแล้วอยู่รอดเป็นทารก กฎหมายถือว่าทารกนั้นมีสิทธิที่จะได้รับมรดกได้ แต่ต้องเกิดมาภายใน ๓๑๐ วันนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย ถ้าเกิดภายหลังจากนั้น คงยากที่จะถือได้ว่าเป็นทายาทของผู้ตาย ส่วนจะเป็นทายาทหรือลูกของใคร ไม่ใช่เรื่องที่บทความนี้จะวิจารณ์ให้สะเทือนใจเจ้ามรดก


ทายาทโดยธรรมนั้น กฎหมายแบ่งออกเป็น ๖ ลำดับ มีสิทธิรับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้
(๑) ผู้สืบสันดาน อันได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ และต่อๆ ไปจนสุดสาย
(๒) บิดามารดา
(๓) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(๔) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(๕) ปู่ ย่า ตา ยาย
(๖) ลุง ป้า น้า อา
ใครก็ตามที่เป็นทายาทและบวชเป็นพระภิกษุ จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ จะต้องสึกออกมาจากสมณเพศเสียก่อนจึงจะเรียกร้องเอาได้ เว้นแต่จะมีผู้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ท่าน ท่านอาจเรียกร้องเอาได้แม้ว่าจะยังอยู่ในสมณเพศ


                 ๓. สิทธิการรับมรดกในระหว่างทายาทโดยธรรมด้วยกันเองและคู่สมรส


(๑) ถ้ามีทายาทลำดับ (๑) คือผู้สืบสันดานแล้ว ทายาทในลำดับอื่น ๆ หมดสิทธิที่จะได้รับมรดกโดยสิ้นเชิง ยกเว้นทายาทลำดับ (๒) และคู่สมรสแล้ว ซึ่งต่างจะมีสิทธิรับมรดกเสมือนหนึ่งเป็นผู้สืบสันดานคนหนึ่ง เช่น ผู้ตาย มีภริยา ๑ คน มีลูก ๒ คน (สมมุติให้ชื่อ”เพชร” กับ “ทอง” จะได้สะดวกในการอ้างถึงในภายหลัง) มีบิดา และมารดา ในกรณีนี้มรดกจะแบ่งกันระหว่าง ภริยาลูกและบิดามารดาคนละเท่า ๆ กัน คือแต่ละคนได้รับหนึ่งในห้า 


ในระหว่างทายาทที่เป็นผู้สืบสันดาน (ทายาทลำดับ(๑) ด้วยกัน คนที่เป็นลูกของเจ้ามรดกเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับมรดก ส่วนบรรดาหลาน เหลน หรือลื้อ จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกโดยตรง แต่ถ้าลูกคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก และลูกคนนั้นมีลูก หรือมีหลาน (ซึ่งจะเป็นหลานหรือเหลนของเจ้ามรดก) ลูกหรือหลานเหล่านั้นก็จะรับมรดกแทนที่พ่อของตน เช่นในกรณีตัวอย่างข้างต้น ปรากฏว่าเพชร ตายก่อนพ่อซึ่งเป็นเจ้ามรดก ถ้าเพชรไม่มีลูกหรือหลาน มรดกก็จะตกได้แก่ทอง ภริยาของเจ้ามรดก บิดา มารดา ในกรณีนี้ ทองจึงมีสิทธิได้รับมรดก ๑ ใน ๔ แต่ถ้าเพชรมีลูกหรือมีหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ลูกหรือหลานของเพชรก็จะเข้ามารับมรดกแทนที่เพชร (ซึ่งเรียกว่าผู้รับมรดกแทนที่) ในกรณีนี้ มรดกจึงยังคงต้องแบ่งเป็น ๕ ส่วน อย่างเดิม ส่วนที่เป็นของเพชรนั้น ลูก ๆ ของเพชรก็นำไปแบ่งกันเอง ถ้าเพชรมีลูก ๓ คน ลูก ๓ คนก็จะได้มรดกไป ๑ ส่วน แล้วนำหนึ่งส่วนนั้นไปแบ่งในระหว่างกันเอง ต่างคนต่างจะได้ ๑ ใน ๓ ของมรดกที่ได้รับมา (เช่น มีมรดกมีมูลค่า ๕ ล้านบาท ในส่วนของเพชรจะได้มา ๑ ล้านบาท ลูก ๆ ของเพชรจะได้คนละ ๓ แสนกว่าบาท) ถ้าลูกของเพชรคนหนึ่งคนใดตาย แต่มีลูก (หลานของเพชร) ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนที่เป็นของลูกของเพชรที่ตายไปนั้นก็จะตกไปยังหลานของเพชร และเป็นเช่นนี้จนกว่าแต่ละสายจะสิ้นสุดลง


(๒) ถ้าผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและผู้สืบสันดานไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ แต่มีบิดามารดา มรดกย่อมตกไปยังคู่สมรสกึ่งหนึ่งและตกเป็นของบิดามารดาอีกกึ่งหนึ่ง โดยทายาทลำดับถัด ๆ ไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่ถ้าบิดามารดาตายไปก่อน ก็เป็นอันจบกันไป จะมีการรับมรดกแทนที่บิดามารดาไม่ได้ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ ๓ ต่อไป


(๓) สำหรับทายาทลำดับ (๓) คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ในกรณีนี้คู่สมรสจะได้รับมรดกไปกึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน มีกี่คนก็แบ่งไปเท่า ๆ กัน ถ้าคนหนึ่งคนใดตายไปก่อนเจ้ามรดก ถ้ามีลูกหลาน ลูกหลานก็เข้ามารับมรดกแทนที่กันต่อ ๆ ไปจนสุดสาย(๔) ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (๓) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกย่อมตกไปสู่ทายาทลำดับ (๔) คือ พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน การแบ่งมรดกจะแบ่งให้คู่สมรสก่อน ๒ ใน ๓ ส่วน ที่เหลือจึงจะตกได้แก่ทายาทลำดับ (๔) ซึ่งต้องไปแบ่งกันเองคนละเท่า ๆ กัน และก็เช่นเดียวกับทายาทลำดับ (๓) คือ ถ้าใครตายไปก่อน มรดกของคนนั้นก็จะถูกทายาทของตนรับมรดกแทนที่ต่อ ๆ ไปจนสุดสาย


(๕) ถ้าไม่มีทายาทลำดับ (๔) และไม่มีผู้รับมรดกแทนที่ มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (๕) คือ ปู่ย่าตายาย ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน ๒ ใน ๓ ส่วนส่วนที่เหลือจึงจะนำไปแบ่งกันในระหว่างปู่ ย่า ตา ยาย ถ้าใครตายก่อนก็เป็นอันหมดสิทธิไป เพราะจะไม่มีการรับมรดกแทนที่เหมือนทายาทลำดับอื่น ๆ


(๖) ถ้าไม่มีปู่ย่าตายาย มรดกจะตกไปสู่ทายาทลำดับ (๖) คือ ลุง ป้า น้า อา ซึ่งคู่สมรสของผู้ตายจะได้รับมรดกก่อน ๒ ใน ๓ ที่เหลือจึงจะนำมาแบ่งปันกันกับลุง ป้า น้า อา ถ้าใครตายไปก่อนมรดกของคนนั้นก็จะตกทอดไปสู่ทายาทของคนนั้นอันเป็นการรับมรดกแทนที่(๗) ถ้าไม่มีทายาททั้ง ๖ ลำดับและไม่มีผู้รับมรดกแทนที่เหลืออยู่เลย คงเหลือแต่คู่สมรสคนเดียว มรดกทั้งหมดจะตกได้แก่คู่สมรส


(๘) ถ้าใครสิ้นไร้ไม้ตอกเสียจนแม้แต่คู่สมรสก็ไม่มี ทายาทก็ไม่มีสักลำดับเดียว ทั้งยังมิได้ทำพินัยกรรมไว้ด้วย มรดกย่อมตกได้แก่แผ่นดิน


                      ๔. การถูกตัดออกจากกองมรดก


การที่ทายาทโดยธรรมจะถูกตัดไม่ให้ได้รับมรดก อาจมีได้ ๓ กรณี คือ


        (๑) ถูกกำจัดมิให้ได้มรดก ซึ่งเกิดขึ้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้
ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้น โดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นจะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลย แต่ถ้ายักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ก็จะถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้
ทายาทที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทายาทที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ ถ้าฟ้องแล้วปรากฏว่าเจ้ามรดกมีความผิดจริง หรือถึงแม้ไม่ผิดจริงแต่มิใช่เพราะเหตุตนนำความเท็จหรือพยานเท็จมาสู่ศาล ทายาทผู้นั้นก็ยังมีสิทธิได้รับมรดกตามปกติทายาทที่รู้อยู่แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำความขึ้นร้องเรียนเพื่อที่จะเอาตัวคนทำผิดมาลงโทษ เว้นแต่ทายาทนั้นอายุยังไม่ครบ ๑๖ ปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามี ภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตนทายาทที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้ทำการดังกล่าวทายาทที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดทายาทที่ถูกกำจัดมรดกดังกล่าวข้างต้นนั้น กฎหมายถือเสมือนหนึ่งว่าทายาทคนนั้นตายไปแล้ว ดังนั้น ถ้าทายาทคนนั้นมีทายาทรับช่วงต่อ ทายาทที่รับช่วงต่อย่อมสามารถรับมรดกแทนที่ได้ และถ้ามิใช่ในกรณีที่ถูกกำจัดตามข้อ แรก ถ้าเจ้ามรดกให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็สามารถรับมรดกได้ตามปกติ


               (๒) การถูกตัดมิให้รับมรดก เจ้ามรดกอาจตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ ด้วยวิธี ดังต่อไปนี้
ด้วยการแสดงเจตนาไว้อย่างชัดแจ้ง ซึ่งอาจทำได้ ๒ วิธี คือ
๑ แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรม
๒ ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้คนอื่นจนหมด ทายาทโดยธรรมคนใดไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นย่อมถือว่าถูกตัดมิให้รับมรดก


            (๓) การสละมรดก ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก อาจไม่ประสงค์จะรับมรดกดังกล่าวก็ได้ โดยทำเป็นหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกไว้ให้ชัดแจ้ง หรือจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ได้ แต่การสละมรดกนั้นจะสละเพียงบางส่วน หรือสละโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
การสละมรดกจะทำก่อนที่เจ้ามรดกตายไม่ได้ แต่เมื่อเจ้ามรดกตายแล้วจะสละมรดกเมื่อไรก็ได้ และเมื่อสละมรดกแล้วให้มีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
การสละมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อได้สละมรดกแล้วทรัพย์สินส่วนที่สละไปย่อมตกไปเป็นของผู้สืบสันดานของคนสละมรดก



             ที่มา : http://www.lawyerthai.com/articles/people/006.php

การจ้างแรงงาน



    สัญญาจ้างแรงงาน

             สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า "ลูกจ้าง" ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า "นายจ้าง" และนายจ้างตกลงให้สินจ้างตลอดระยะเวลาที่ทำงาน การจ้างแรงงาน รวมถึงการจ้างบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญ จ้างครูสอนหนังสือ จ้างหมอประจำคลินิก สัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายฉบับนี้ เป็นลักษณะการจ้างทั่วๆไป ไม่มีกำหนดเวลาการทำงานที่แน่นอน ไม่ใช่การจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการจ้างที่จำนวนคนงานไม่มาก เช่นจ้างขนของ จ้างทำงานบ้าน จ้างบรรจุหีบห่อ เป็นต้น

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน

       1. เป็นนิติกรรม 2 ฝ่าย คือ มีการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
       2. เป็นสัญญาต่างตอบแทน กล่าวคือ เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างตามข้อตกลงนายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง
       3. สัญญาจ้างแรงงานไม่มีแบบ คือ ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือก็ได้
       4. สาระสำคัญอยู่ที่คู่สัญญา คือ เงื่อนไข ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้าง ค่าจ้างหรือค่าตอบแทน ขึ้นอยู่กับนายจ้างลูกจ้างจะตกลงกัน
        5. สถานที่ เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ นายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดหาให้ลูกจ้าง
สิทธิของนายจ้าง ลูกจ้าง
        1. มีสิทธิมอบงานหรือไม่มอบงานให้แก่ลูกจ้าง
        2. นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้บุคคลอื่นก็ได้ เมื่อลูกจ้างยินยอม
        3. นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ เมื่อพบภายหลังว่า ลูกจ้างไม่มีฝีมือพิเศษตามที่ตกลงกัน
        4. นายจ้างมีสิทธิจ่ายค่าจ้างเมื่องานเสร็จ หากมิได้ตกลงกำหนดจ่ายค่าจ้างไว้
        5. นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง
         6. นายจ้างมีสิทธิไล่ลูกจ้างออกจากงาน โดยไม่ต้องบอกล่าวล่วงหน้า หากลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งนายจ้าง ละทิ้งหน้าที่ กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
         7. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน
          8. ลูกจ้างมีสิทธิให้บุคคลอื่นทำงานแทนได้ เมื่อนายจ้างยินยอม
          9. ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง หากไม่มีข้อตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน
         10. เมื่อนายจ้างเสียชีวิต ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาได้
         11. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินค่าเดินทางกลับ เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดลง กรณีลูกจ้างอยู่ต่างถิ่น
         12. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงการทำงาน เมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุด
หน้าที่ของนายจ้าง ลูกจ้าง

        1. นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้าง การจ่ายค่าจ้างจะจ่ายเมื่อใดก็ได้ตามที่ตกลงกัน หรือจ่ายตามจารีตประเพณีก็ได้
        2. นายจ้างมีหน้าที่ออกใบสำคัญแสดงการทำงานให้กับลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง
        3. นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
        4. ลูกจ้างต้องทำงานด้วยตนเอง ยกเว้นนายจ้างยินยอม
        5. ลูกจ้างมีหน้าที่ตกลงทำงานให้นายจ้างตามเวลาที่ตกลงกันไว้ หากไม่ทำตามที่ตกลงกัน นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างหรือเลิกจ้างได้
        6. ลูกจ้างต้องทำงานตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
ความระงับแห่งสัญญาจ้างแรงาน
         1. เมื่อครบกำหนดเวลาในสัญญา
         2. เมื่องานที่จ้างสำเร็จ
          3. เมื่อลูกจ้างนายจ้างตาย
          4. เมื่อเลิกสัญญาตามกฎหมาย เช่น นายจ้างลูกจ้างทำผิดหน้าที่ต่ออีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อลูกจ้างขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือขาดคุณสมบัติที่ได้รับรองไว้หรือไร้ฝีมือ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาล่วงหน้า หรือเมื่อการทำงานตกเป็นพ้นวิสัย เมื่อนายจ้างไล่ลูกจ้างออกจากงาน เป็นต้น




          ที่มา : http://www.statelessperson.com/www/?q=node/6723

การค้ำประกัน




          ค้ำประกัน คือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า "ผู้ค้ำประกัน" สัญญาว่าจะชำระหนี้ห้แก่เจ้าหนี้ถ้าหากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้    หนี้ที่ค้ำประกันนี้จะเป็นหนี้อะไรก็ได้ทั้งสิ้น เช่น หนี้เงินกู้, หนี้ค่าสินค้า, หนี้การก่อสร้าง เป็นต้น

         หลักเกณฑ์ในการทำสัญญาค้ำประกัน
         สัญญาค้ำประกันต้องทำตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไปนี้
              1. ต้องทำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ
              2. ต้องลงลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน  จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีให้ผู้ค้ำประกันรับ
ผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ หากไม่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันแล้วก็จะไม่
ได้ประโยชน์เพราะไม่สามารถฟ้องบังคับผู้ค้ำประกันได้

         ชนิดของสัญญาค้ำประกัน
         สัญญาค้ำประกันอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
               1. สัญญาค้ำประกันอย่างไม่จำกัดจำนวนกล่าวคือ ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้เป็นจำนวนเท่าใด   ผู้ค้ำประกันก็ต้องชดใช้ให้แก่เจ้าหนี้ในจำนวนเท่ากันกับลูกหนี้ด้วย คือ ต้องรับผิดในต้นเงิน ดอกเบี้ย   ค่าเสียหายในการผิดนัดชำระหนี้ ค่าภาระติดพัน ตลอดจนค่าธรรมเนียมในการฟ้องร้องบังคับคดีด้วย
                2. สัญญาค้ำประกันจำกัดความรับผิดกล่าวคือ   ผู้ค้ำประกันได้ระบุจำนวนไว้ว่าจะรับผิด  ไม่เกินจำนวนตามที่ได้ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แล้วผู้ค้ำประกันก็จะใช้หนี้ดังกล่าวแทนลูกหนี้ เฉพาะเท่าจำนวนที่ตนระบุไว้เท่านั้น

         ข้อปฏิบัติในการเข้าทำสัญญาค้ำประกัน
         ผู้ใดจะเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ของบุคคลอื่นนั้น ควรปฏิบัติดังนี้
                1. อ่านสัญญาค้ำประกันให้ครบถ้วนทุกข้อก่อนลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน
                2. หากประสงค์ที่จะค้ำประกันหนี้เพียงบางส่วน  ก็ให้เขียนระบุไว้โดยแจ้งชัดในสัญญาค้ำประกันว่าประสงค์ที่จะค้ำประกันเป็น จำนวนเท่าใด
                3. หากไม่ประสงค์ที่จะรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ในฐานะลูกหนี้ร่วมกันแล้ว ก็ต้องดูในสัญญาว่ามีข้อความที่ระบุว่าให้ตนรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้หรือไม่ ถ้าไม่มีจึงค่อยลงชื่อในสัญญาค้ำประกัน

          ถ้าผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิอย่างไร  ถ้าผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปแล้ว  ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาคืนจากลูกหนี้เท่าจำนวนที่ตนได้ชดใช้แทนลูกหนี้ไป แล้ว

         ในกรณีดังต่อไปนี้ผู้ค้ำประกันย่อมพ้นจากความรับผิด    ไม่ต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

                 1. ถ้าหนี้ที่ตนค้ำประกันนั้นได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนแล้ว   ต่อมาเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

                  2. เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว ผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด


   

               ที่มา : http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=41de95a8c4d562d7

สิทธิของผู้ถูกจับ ผู้ต้องหา ตามกฏหมายอาญา



             ในคดีอาญานั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเสมอว่า "ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม หรือจำเลยที่ถูกฟ้องต่อศาล ไม่มี ความผิด จนกว่าจะมีคำตัดสินของศาลที่ถึงที่สุด แสดงว่าบุคคลผู้นั้นได้ทำความผิดจริง"  เพราะฉะนั้นแล้ว ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำตัดสินออกมา ผู้ต้องหา หรือจำเลยก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่  ดังนั้นการที่เรารีบด่วนไปตัดสิน ประนาม ด่าทอ หรือสาปแช่งว่าเป็นคนชั่วช้าเลวทรามในสังคม เพียงเพราะได้ข้อมูลจากคำบอกเล่าจากคนอื่น จากข่าวสาร แล้วทำการด่วนสรุปไปว่าได้ทำความผิด จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ถูกจับ หรือจำเลย  และในปัจจุบันเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ได้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนหนึ่งได้ถูกจองจำโดยผลของกฎหมาย โดยที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ทำความผิด  ดังนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ ก่อนที่เขาเหล่านั้นจะถูกตัดสินว่า เป็นผู้ทำความผิด เราก็ควรที่จะให้โอกาสให้เขาเหล่านั้นใช้สิทธิของตนเองที่มี ในการที่จะต่อสู้คดีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตัวเองเสียก่อน
 
       "คนที่ถูกหาว่าทำผิด อาจจะไม่ได้ทำความผิด และคนที่ถูกศาลตัดสินให้ต้องโทษจองจำ ก็อาจเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เคยทำความผิดมาเลยในชีวิต"   คำกล่าวที่ว่ามานี้ ก็มีสาเหตุมาจากการที่บ้านเมืองของเราในยุคสมัยนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไป ความซับซ้อนในความคิด และพฤติกรรมของคนเราที่แสดงออกมา ก็ไปไกลเกินกว่าเรื่องของความผิดชอบชั่วดีธรรมดาๆ ที่ในยุคสมัยหนึ่งสามารถนำมาใช้อย่างได้ผล แต่สำหรับในยุคปัจจุบันนี้แล้ว เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องเงินทอง หรือปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถสนองความต้องการได้ดีกว่า กลับมามีอิทธิพลเหนือความถูกต้องชั่วดี   ดังนั้นแล้ว คนที่คิดว่าเป็นคนดี หรือเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีอำนาจกฎหมายอยู่ในมือ ในบางครั้งก็สามารถทำเรื่องที่ไม่ดีไม่งามได้เช่นกัน อย่างที่เป็นข่าวออกมาเป็นระยะๆ   เช่นนั้นแล้ว เมื่อท่านไปพบเห็นผู้ต้องหา หรือจำเลยคนหนึ่งอยู่ต่อหน้า ท่านจะตัดสินได้อย่างไรว่า เขาได้เป็นผู้ทำความผิด
   
      ดังนั้น ก่อนที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยคนใด จะถูกตัดสินว่าได้เป็นผู้ทำความผิดแล้ว  เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งในสังคม ก็ควรที่จะให้ความเป็นธรรมกับเขา ในการที่จะได้รับสิทธิ โอกาส หรือกระบวนการอย่างใดๆ ที่ยุติธรรม ในการพิสูจน์ความถูกผิดของเขาเหล่านั้นนั้นเสียก่อน  ซึ่งในปัจจุบันนี้ ก็ถือว่ายังพอมีความเป็นธรรมอยู่บ้าง ที่ยังมีคนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ โดยมีการเขียนกฎหมายเข้ามารองรับและคุ้มครองผู้ต้องหา หรือจำเลยเอาไว้  คือ
      กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 มีใจความว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด"   และในส่วนท้ายก็ได้กำหนดเอาไว้ด้วยว่า "ก่อนมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด ที่แสดงว่าบุคคลใดได้ทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้"

      แม้กฎหมายสูงสุดจะได้รับรองคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา หรือจำเลยเอาไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเรามามองถึงการปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายแล้ว กลับพบว่า ในบางกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยกลับไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายรับรองเอาไว้แต่อย่างใด และที่น่าเศร้ายิ่งขึ้นไปกว่านั้น ผู้ที่ละเลย หรือฝ่าฝืนนั้น กลับกลายเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องเสียเอง  ดังที่ปรากฏออกมาเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ  เช่น การนำผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าวต่อหน้ามวลชน แล้วทำการติดป้ายประจาน เพื่อให้คนอื่นเห็นว่า ผู้ต้องหาชั่วช้า หรือไม่ใช่มนุษย์มะนาอะไรอย่างนั้น  ส่วนผู้ที่ทำก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่ได้ทำลงไปนั้น ก็เป็นการทำความผิดเช่นกันนะครับ

      ทีนี้เรามาดูเรื่องสิทธิของผู้ต้องหา หรือสิทธิของจำเลย ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีการบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง ทั้งนี้เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาให้ดียิ่งขึ้น
   
      1.สิทธิในการแจ้งให้ญาติ หรือเพื่อน หรือคนที่ไว้วางใจ ทราบถึงการถูกจับกุม และสถานที่ที่ถูกจับกุม

         เป็นเรื่องที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ เพราะว่าในขณะที่ถูกจับ ผู้ต้องหาหรือผู้ถูกจับกุม คงไม่สามารถติดต่อกับใครได้โดยสะดวก เพราะทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะมีความจำเป็นต้องยึดเครื่องมือติดต่อสื่อสารของผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับกุมไว้ก่อน เพื่อทำการตรวจสอบ หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดต่างๆ ได้ ดังนั้นหากญาติ เพื่อน หรือคนรู้จักที่ผู้ต้องหา หรือผู้ถูกจับไว้วางใจ ได้ทราบว่า ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ถูกจับกุมอยู่ที่ไหน ถูกจับกุมในเรื่องอะไร ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของความห่วงใยจากญาติพี่น้อง ที่ยังสามารถรับรู้ถึงเรื่องราวและความเป็นไปของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาได้  และจะเป็นประโยชน์ในส่วนของการร้องขอประกันตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการจัดเตรียมหลักทรัพย์ หรือเอกสารต่างๆ ในการขอประกันตัวต่อสู้คดี

      2.สิทธิในการพบ และปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว

         สิทธิดังกล่าว เป็นสิทธิเฉพาะตัวขอผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหา ที่จะพบหรือไม่ก็ได้   เหตุที่มีการกำหนดสิทธิในเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาที่ถูกจับนั้น อาจจะไม่มีความรู้ในเรื่องของกฎหมาย ไม่รู้ว่าความผิดที่ตนเองถูกกล่าวหานั้น เป็นความผิดอย่าไร ต้องต่อสู้หรือให้การต่อเจ้าหน้าที่อย่างไร  ซึ่งหากผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาให้การไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ เช่น ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม  โดยกล่าวหาว่าได้ใช้มีดทำร้ายผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นว่าผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ได้ใช้มีดทำร้ายผู้อื่นจริง แต่เหตุที่เกิดขึ้นเพราะว่าคนอื่นนั้นได้เข้ามาทำร้ายผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาก่อน  ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา จึงได้ใช้มีดฟันออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาทำร้ายตนเองก่อนเท่านั้น   หากข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้จริง ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาก็อาจจะไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายก็ได้  ซึ่งหากผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไม่รู้ กลับไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ตนเองเป็นคนใช้มีดฟันผู้อื่นจริง
โดยไม่ได้ให้การเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองเอาไว้เลย อย่างนี้ก็จะเป็นการรับสารภาพว่าเป็นผู้ทำความผิดจริง และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาล  ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา คงต้องได้รับโทษอันไม่สมควรจะได้รับ เหตุก็เนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมายนั่นเอง

     3. สิทธิในการให้ทนายความ หรือผู้ที่ตนเองไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นพนักงานสอบสวน

        สิทธินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาเช่นกัน ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา จะขอใช้สิทธิให้ทนายความของตัวเอง หรือคนที่ตัวเองไว้วางใจ เข้าฟังการสอบปากคำของตนเองได้เสมอ หากไม่มีทนายความ ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา สามารถที่จะร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะจัดหาทนายความให้  เหตุที่ได้มีการกำหนดสิทธินี้ขึ้นมา เนื่องจากต้องการให้การสอบปากคำผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปด้วยความถูกต้อง ยุติธรรม ไม่ถูกหลอกลวง บังคับ หรือขู่เข็ญใดๆ จากเจ้าหน้าที่
   
     4.สิทธิในการได้รับการเยี่ยม หรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

        สิทธินี้เป็นสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา และเป็นสิทธิของญาติๆ ของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ที่จะต้องสามารถติดต่อเยี่ยมเยือน สอบถามถึงความเป็นอยู่ของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาได้   เหตุที่กำหนดเรื่องของสิทธินี้ขึ้นมาก็เนื่องมาจากตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาเอง ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มีเลือดมีเนื้อ มีความนึกคิด มีความรักความผูกพันซึ่งกันและกัน การทำความผิดของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้น อาจจะเกิดขึ้นจากอารมณ์ชั่ววูบ หรือเนื่องจากความประมาทเลิ่นเล่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะให้อภัยกันได้
       ในการติดต่อเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหานี้ สามารถทำได้แต่ต้องเป็นไปตามวันและระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดเอาไว้  ซึ่งหากไม่ทราบก็ควรที่จะติดต่อสอบถามเบื้องต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลา


     5.สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว  เมื่อเกิดการเจ็บป่วย

        สิทธินี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ที่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา จะต้องได้รับ เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาในระหว่างที่ถูกจับกุมตัวอยู่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย ที่จะต้องดำเนินการจัดส่ง หรือทำการรักษาพยาบาลในเบื้องต้น เพื่อที่จะทำให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา หายเจ็บป่วยโดยเร็ว โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาร้องขอ
   
        สิทธิดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา ที่มีตามกฎหมาย  ดังนั้นกฎหมายจึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามา ในการแจ้งสิทธิต่างๆ เหล่านี้ ให้กับผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาได้ทราบ เพื่อจะได้เข้าใจ และรู้ถึงถึงสิทธิของตัวเอง ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการใดๆ ต่อไป



       ที่มา : http://www.chawbanlaw.com/bq_law/folder_bg_2/bkg_2_4.html

การขอประกันตัว



ขั้นตอนการขอให้ปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว)

           ขั้นแรก ให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกัน จัดเตรียมเอกสารเพื่อใช้ประกอบการยื่นขอให้ปล่อยชั่วคราว ดังนี้

        1. บัตรประจำตัวประชาชนทะเบียนบ้าน (พร้อมสำเนา 1 ชุด)
        2. ถ้าผู้ขอประกันหรือผู้เป็นหลักประกันมีคู่สมรสตามกฎหมาย ต้องมีคำยินยอมของคู่สมรส หากเป็นหม้ายต้องมีใบสำคัญการหย่า หรือตายต้องมีใบมรณะบัตรของคู่สมรสหรือทะเบียนบ้านที่มีการแจ้ง "ตาย" หน้าชื่อของผู้นั้นมาแสดง
        3. กรณีหลักทรัพย์เป็นที่ดินตามโฉนด น.ส.3 หรือ น.ส.3ก ต้องมีหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดิน จากพนักงานเจ้าหน้าที่พร้อมแผนที่ตั้งหลักทรัพย์โดยละเอียด หากผู้ประกันมิได้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์ ต้องมีหนังสือมอบอำนาจตามกฎหมายมาแสดง
        4. กรณีใช้เงินตามสมุดเงินฝากประจำ หรือใบรับเงินฝากประจำของธนาคารมาเป็นหลักประกัน ต้องมีหนังสือรับรองยอดเงินคงเหลือปัจจุบันของธนาคาร และรับรองว่าจะไม่ยอมให้ถอนเงิน ภายใน 45 วัน หากเป็นการขอให้ปล่อยชั่วคราว ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติ หนังสือรับรองต้องระบุว่า ไม่ยอมให้ถอนเงิน จนกว่าความรับผิดตามสัญญาจะหมดไปแล้ว
        5. กรณีบุคคลเป็นหลักประกัน ให้บุคคลนั้นเสนอหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงฐานะ ระดับ อัตราเงินเดือน หรือหนังสือรับรองสถานะของตนเอง หากมีภาระผูกพันในการทำสัญญาประกันหรือใช้ตนเป็นหลักประกันรายอื่นอยู่ ก็ให้แสดงภาระผูกพันนั้นด้วย
           การ ให้บุคคลอื่นนอกจากข้าราชการเป็นหลักประกัน คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ประจำเขตพื้นที่ อาจพิจารณาให้เมื่อบุคคลนั้น เป็นผู้ที่มีหลักฐาน ตำแหน่งหน้าที่อาชีพการงาน ฐานะหรือชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือได้ โดยกำหนดวงเิิงินต ามที่เห็นสมควรเป็นกรณีๆ ไป

ขั้นที่สอง

         ผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเขียนคำร้อง ขอให้ปล่อยชั่วคราว และแนบเอกสารที่จัดเตรียมยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

ขั้นที่สาม

           คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเขตพื้นที่แจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบ




         ที่มา  :  http://210.246.159.136/nongboua/index.php?

สัญญากู้ยืมเงิน




         ปีนี้เป็นปีที่ใครๆ ต่างก็บ่นกันอุบ เพราะว่าเศรษฐกิจบ้านเรามันไม่ดี ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เนื่องมาจากเศรษฐกิจของโลกในระบบของการค้าตลาดเสรี ที่ต่างก็ล้มกันระเนระนาดกันเป็นทิวแถว และยังไม่เท่านั้น มันยังส่งผลกระทบเป็นระลอกคลื่น มายังเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย และคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นไม่พ้นชนชาวรากหญ้าตาดำๆทั้งหลาย เพราะว่าข้าวปลาอาหารต่างๆ ก็แพงขึ้นๆ ทำให้เราต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้น ในขณะที่รายรับนั้นเท่าเดิม หรือแทบจะไม่มีเลย เมื่อเป็นแบบนี้ต่อไปใครๆ ก็คงจะพูดออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า แย่   เมื่อสถานะการณ์เป็นอย่างนี้ไม่ว่าใครๆ ต่างก็ต้องแลซ้ายแลขวาเพื่อหาทางเอาตัวรอดกันทั้งนั้น หากท่านมีโอกาสและจังหวะที่ดีพอ ท่านก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่เลียบๆ เคียงๆ ไปยังคนที่อยู่ข้างๆ แล้วก็พูดออกมาเลยว่า "ขอยืมเงินหน่อยคร๊าบ"

        "การกู้ยืมเงิน" นั้น เป็นเรื่องธรรมดาในยุคนี้สมัยนี้ และสำหรับชาวบ้านชาวช่องทั่วๆ ไปต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งนั้นในช่วงเวลาที่ลำบากยากเข็ญ  ซึ่งในเรื่องของการกู้ยืมเงินตามแบบฉบับของชาวบ้านนั้น ส่วนมากก็จะเป็นการขอยืมกันด้วยปากเปล่า ไม่ได้มีการทำสัญยงสัญญาอะไรไว้ต่อกัน ทั้งนี้เพราะถือหลักความคุ้นเคยและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และเมื่อได้มีการหยิบยืมเงินกันแล้ว เมื่อถึงเวลา ก็จะเอามาคืนให้กัน โดยที่ไม่ได้มีการคิดดอกบงดอกเบี้ยให้มันปวดสมองเล่น และการยืมแต่ละครั้งก็เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนัก   
       
           สิ่งที่ได้กล่าวและเกิดขึ้นมานี้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในยามที่ลำบาก  แต่ก็อย่างว่าละครับ คนเราเกิดมาย่อมจะมีความแตกต่าง ทั้งจริต นิสัย ถ้าเจอคนที่ดีก็ถือว่าเป็นบุญไป แต่หากไปเจอคนที่เลว ชอบเอารัดเอาเปรียบ หรือคอยจ้องแต่จะคดโกงคนอื่นอย่างนี้แล้ว อย่างนี้ก็คงไม่ไหว และหากคนแบบนี้มาขอหยิบยืมเงินเราไป ปัญหาที่ตามมาก็อาจจะหนีไม่พ้นต้องกุมขมับ เพราะว่าหายเข้าไปในกลีบเมฆ หรือทวงถามเมื่อไหร่ก็บอกไม่มี แล้วก็ผลัดผ่อนไปวันหลังอยู่เรื่อยๆ แบบนี้ผู้ให้ยืมก็คงหน้าดำหน้าเขียวไม่รู้จะทำอย่างไรดีซะงั้น

        ตามหลักของกฎหมายในเรื่องของการกู้ยืมเงิน การจะทำสัญญากู้ยืมเงินในแต่ละครั้งนั้นจะทำสัญญากันด้วยปากเปล่าก็ได้ หรือเพื่อความมั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาขึ้นตามมาภายหลัง จะทำเป็นหนังสือสัญญาโดยเฉพาะก็ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดเอาไว้  (แต่ถ้าจะให้ดีเพื่อความสบายใจ เราก็ควรที่จะทำเป็นหนังสือสัญญาดีกว่า) แต่ว่า หากมีการกู้ยืมเงินกันเป็นเงินมากกว่าสองพันบาทขึ้นไป (ก็ 2,001 บาทขึ้นไป) ก็จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสำคัญ (หลักฐานการกู้ยืมนั้นจะเป็นหนังสืออะไรก็ได้ โดยต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมอยู่ด้วย เช่น จดหมายโต้ตอบว่าได้มีการยืมเงินกันไป อย่างนี้ก็ใช้ได้) และหากว่ามีการกู้ยืมเงินกันเกินกว่าสองพันบาท แล้วไม่ได้ทำสัญญากันไว้ หรือว่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่ง
อย่างใดเลย อย่างนี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาก็จะไปฟ้องร้องต่อศาล เพื่อจะเรียกร้องเอาเงินจากผู้กู้ยืมคืนมาไม่ได้  เมื่อเป็นอย่างนี้ ผู้ให้กู้ก็ต้องรับเคราะห์ไป ส่วนผู้กู้ก็เดินยิ้มแฉ่งได้อย่างสบายอกสบายใจ เพราะได้ตังค์ใช้ฟรี

        ดังนั้นในการกู้ยืมเงินกัน แม้ว่าเราจะรู้จักมักคุ้นกับผู้กู้เงิน และไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขนาดไหน เราก็ควรจะทำสัญญา หรือทำหลักฐานการกู้ยืมกันไว้จะเป็นการดีที่สุด เพราะตามข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินโดยส่วนมาก คู่พิพาทมักจะเป็นคนที่รู้จักกัน

        ที่นี้เรามาว่ากันในส่วนของฝ่ายของผู้กู้ยืมเงิน  กฎหมายก็ได้วางหลักเกณฑ์ในส่วนของผู้กู้ยืมเงินเอาไว้เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อการกู้ยืมเงินได้ทำเป็นหนังสือสัญญาไว้ต่อกัน หรือไม่ได้ทำหนังสือสัญญา แต่ว่าได้ทำหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ที่แสดงได้ว่าได้มีการกู้ยืมเงินกัน โดยฝ่ายผู้กู้เงินได้เซ็นต์ชื่อลงในหนังสือนั้นด้วย เช่น
         นาย ก. เขียนจดหมายไปหา นาย ข. บอกว่า "เงินที่ยืมไป 50,000 บาท ชาติหน้าถึงจะคืนให้" เสร็จแล้วนาย ก. ก็ได้ลงชื่อเอาไว้
         ข้อความที่กล่าวไว้ข้างต้น เพียงเท่านี้ ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานของการกู้ยืมเงินได้  และต่อมาเมื่อผู้กู้เงินได้ชำระเงินตามวันเวลาที่ได้ตกลงกันไว้กับผู้ให้กู้เงินแล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้กู้เงินกลับละเลยไม่ขอใบเสร็จ หรือหลักฐานการชำระเงิน หรือเมื่อชำระเงินให้กับผู้ให้กู้เงินครบถ้วนแล้ว ก็ไม่ได้ขอสัญญากู้ หรือหลักฐานการกู้คืนจากผู้ให้กู้ หรือขอให้ผู้ให้กู้เงินทำลายสัญญา หรือหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นเสีย ทั้งนี้ก็เพราะความเชื่อใจกันแล้ว   หากปรากฏว่าวันดีคืนดีผู้กู้เงินก็ได้รับหมายเรียกจากศาล โดยมีข้อหาว่า ผู้กู้เงินผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้แก่ผู้ให้กู้เงินตามสัญญา  เมื่อเกิดเหตุอย่างนี้แล้ว ผู้กู้เงินจะต่อสู้กับผู้ให้กู้ โดยนำพยานหลักฐานไปแสดงต่อศาล เพื่อแสดงว่าได้นำเงินไปชำระคืนให้กับผู้ให้กู้ครบถ้วนแล้วไม่ได้  ทั้งนี้เพระว่าผู้กู้เงินไม่มีหลักฐานแสดงได้ว่า ได้นำเงินไปชำระแล้วนั่นเอง ที่นี้ผู้กู้เงินก็ต้องก้มหน้ารับเคราะห์ หาเงินไปชำระให้กับผู้ให้กู้อีกรอบ ส่วนผู้ให้กู้เงินก็ยิ้มบ้าง เพราะได้กำไรเป็นเท่าตัว

        สรุป ในส่วนของผู้กู้เงิน เมื่อได้นำเงินมาชำระคืนแก่ผู้ให้กู้ ก็ควรที่จะขอใบเสร็จ หรือหนังสืออย่างอื่นที่แสดงว่าได้มีการชำระเงินคืนแล้ว เป็นเงินเท่าใด  และหากชำระครบถ้วนแล้ว ก็ขอสัญญาคืน หรือขีดฆ่า หรือฉีกทำลายเสียซึ่งดีกว่าใช้ความเชื่อใจ แล้วเกิดปัญหาขึ้นมาภายหลังนะครับ



             ที่มา : http://www.chawbanlaw.com/bq_law/folder_bg_7/bkg_7_2.html

กฏหมายที่ดิน

ความรู้เกี่ยวกับกฏหมายที่ดิน


            "ที่ดิน" เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมาก เพราะที่ดินเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการดำเนินชีวิตของสังคมเราที่ขาดเสียไม่ได้ เป็นรากฐานของบ้านเรื่อนที่อยู่อาศัยของชาวบ้านประชาชนโดยทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ในเขตต่างจังหวัด หรือในเขตมหานคร และที่ดินยังเป็นฐานในการผลิตปัจจัยสำคัญในเรื่องของอาหารให้กับคนเราอีกด้วย ดังนั้นที่ดินจึงมีความสำคัญ และได้กลายไปเป็นทรัพย์สินที่มีค่าสำหรับประชาชน

        ปัจจุบันประชาชกรในประเทศของเรา ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มที่จะขึ้นไปเรื่อยๆ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศก็เจริญเติบโตไปตามยุคสมัย จนเราแทบจะปรับตัวตามไม่ทัน ต่อการเปลี่ยนแปลงที่ได้เกิด แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น ก็คือ  ความต้องการในการใช้ที่ดินที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนของที่ดินกลับมีจำนวนที่จำกัด และกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่มบางพวก  ดังนั้นการแย่งชิง การบุกรุกเข้าครอบครองที่ดินสาธารณะจึงได้เกิดมีขึ้นอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งรวมไปถึงปัญหาของการบุกรุกป่าของชาวบ้านเพื่อจะเข้าไปทำประโยชน์ตามที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ จึงมีมากเพิ่มตามไปด้วย

        ปัจจุบันกฎหมายที่ดิน ได้เข้ามามีบทบาทในการเข้ามาควบคุม และยังเป็นหลักเกณฑ์ในการได้มาซึ่งที่ดินของชาวบ้านตามกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอน ตามที่กฎหมายกำหนดไว้แทบทั้งสิ้น   ทำให้ปัจจุบัน การได้มาของที่ดินของชาวบ้านและประชาชน จึงเป็นการได้มาโดยการซื้อขายเปลี่ยนมือกันต่อๆ มา  รวมทั้งการได้รับมาโดยการตกทอดเป็นมรดกจากพ่อสู่ลูก เป็นส่วนใหญ่

        “ที่ดิน” ตามภาษาชาวบ้านนั้น เป็นที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า คือ พื้นดินทั่วไป  แต่ในความหมายของกฎหมายที่ดินนั้น  “ที่ดิน” มีความหมายกว้างกว่าตามความหมายธรรมดาของชาวบ้าน โดยตามกฎหมายที่ดินนั้น รวมไปถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเล ด้วยนะครับ..

เอกสารเกี่ยวกับที่ดิน

  "ที่ดิน" เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งของชาติ ในสมัยโบราณนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย ที่ดินทั้งหมดเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาก็ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าครอบครองทำกินเรื่อยมา จวบจนมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนการถือครองที่ดินของชาวบ้านเรื่อยมา จากเดิมที่ถือว่า ที่ดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหมด สุดท้ายก็ได้ปรับเปลี่ยนมาในลักษณะที่ชาวบ้านสามารถเข้าครอบครองทำกิน จวบจนปัจจุบันชาวบ้านประชาชนก็สามารถกลับกลายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้

         ปัจจุบันหน่วยงานราชการที่เกี่ยวกับที่ดิน ได้ออกเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินให้กับประชาชนผู้ครอบครองที่ดินทำกิน เพื่อเอาไว้แสดงเป็นหลักฐาน ในส่วนของขอบเขต ทิศ ลักษณะ พร้อมทั้งแสดงความเป็นเจ้าของๆ ที่ดินผืนนั้นๆ อันมีมาแต่เดิม ทั้งนี้เอกสารสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินที่ โดยมีรายละเอียดดังนี้

         1. หลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค.1  ออกให้กับราษฎรซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน อยู่ก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ซึ่งราษฎรได้ไปแจ้งการครอบครองเอาไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

         2. ใบจอง หรือ น.ส.2 เป็นหนังสือสำคัญที่ออกให้แก่ราษฎร เพื่อแสดงการยอมให้ราษฎรเข้าครอบครองที่ดินได้ชั่วคราว

         3. ใบเหยียบย่ำ เป็นหนังสือสำคัญที่อนุญาตให้ราษฎรเข้าจับจองที่ดิน เพื่อให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่า  โดยใบอนุญาตนี้ มี 2 ชนิด คือ
             - ใบเหยียบย่ำ คือ ใบอนุญาตให้ราษฎรจับจองที่ดิน ซึ่งนายอำเภอเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกใบเหยียบย่ำ มีระยะเวลาให้ราษฎรที่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบเหยียบย่ำ
             - ตราจอง คือ ใบอนุญาตให้ราษฎรจับจองที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดิน เป็นผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาต มีระยะเวลาให้ราษฎรที่ได้รับอนุญาตเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับใบตราจอง

         4. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 เป็นหนังสือสำคัญจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ราษฎรได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ซึ่งที่ดินที่จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ จะต้องเป็นที่ดินที่ผู้มีสิทธิในที่ดินได้ครอบครองและทำประโยชน์แล้ว และเป็นที่ดินที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ ตามกฎหมาย

         5. ใบไต่สวน หรือ น.ส.5 เป็นหนังสือสำคัญแสดงการสอบสวน เพื่อออกโฉนดที่ดิน ในที่นี้หมายความรวมถึงใบนำ ด้วย

         6. โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 คือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

การทำสัญญาซื้อขายที่ดิน

              การซื้อขาย เป็นกิจกรรมที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ซึ่งเริ่มแรกเดิมที่นั้น ก็เป็นเพียงกิจกรรมการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่จำเป็นต่อกันธรรมดาๆ ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาสื่อกลางในการทำการซื้อการขาย ซึ่งหากจะรู้ว่าเรื่องราวจากอดีตมาถึงปัจจุบันนั้น เรื่องราวรายละเอียดเป็นมาอย่างไร ก็ลองๆ ไปสอบถามเอากับผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นมา และนั้นก็คงจะยากเต็มที เพราะว่าท่านที่ว่าไม่คอยนานอย่างนั้นหรอก (ตามอายุขัย) ทางที่ดีก็เปิด
หนังสือตำราตามห้องสมุดต่างๆ เป็นดีที่สุดละครับ

         เมื่อเรื่องของการซื้อขายมีมานมนานแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ชาวบ้านโดยทั่วไปจะเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อการขายในปัจจุบันนี้ ต้องทำกันอยู่ทุกวัน นับตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงทั้งหลาย ที่มักจะร้องงอแงขอเงินไปซื้อขนมอยู่ทุกวัน และที่ว่ามารวมๆ กันนั้น ก็เป็นเรื่องของการซื้อขายโดยทั่วไป แต่ถ้าถามถึงการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ละ  แบบนี้ก็เดาได้ไม่เลยว่า บางคนก็อาจจะรู้ บางคนก็คงส่ายหน้า  ที่เป็นอย่างนี้ สาเหตุก็มาจากเรื่องของการใช้ภาษา  เพราะภาษาที่ใช้เป็นภาษาทางการมากเกินไป แต่ถ้าเราบอกว่า "ซื้อขายที่ดิน" ทุกคนก็คงจะร้องอ๋อ และต่างก็ถึงบางอ้อทันที

         "อสังหาริมทรัพย์"  ถ้าไม่ลงรายละเอียดมากนัก เราก็จะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ดินเป็นส่วนใหญ่   ดังนั้นเมื่อเราได้ยินคนพูดถึงเจ้าอสังหาริมทรัพย์  เราก็จะสามารถเข้าใจ และเห็นภาพได้ว่าเป็นเรื่องของที่ดิน การซื้อขายที่ดินในทางกฎหมายนั้น จะมีหลักเกณฑ์ ขั้นตอน ซึ่งสำหรับชาวบ้านธรรมดาแล้ว ก็อาจจะรู้สึกเหมือนกันว่า  เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ทำให้ต้องเสียเวลาทำมาหากิน และสุดท้ายก็เลยแก้ปัญหาโดยการซื้อขายกันเอาเองเลย ก็แบบว่า เอาตังค์มา แล้วก็เอาที่ดินไปเลย  แบบนี้ถ้าถามว่าใช้ได้หรือเปล่า ก็บอกได้ว่า ใช้ได้แบบชาวบ้านๆ (หากไม่มีปัญหาอะไรขึ้นมาเสียก่อน)

         ที่นี้เรามาทำความเข้าใจ ในเรื่องของการ "ซื้อขายที่ดิน" ที่ถูกต้องตามกฎหมายกันก่อนดีกว่า ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องของการซื้อขายที่ดินที่มีโฉนด หรือที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) หรือใบไต่สวน โดยกฎหมายที่กำหนดเรื่องของการซื้อขายที่ดินเอาไว้ ก็จะเป็นไปตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ซึ่งได้กำหนดเรื่องนี้เอาไว้ว่า "การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นโมฆะ " จากหลักเกณฑ์ดังกล่าว สามารถสรุปขั้นตอนการทำได้ว่า
          1. ทำเป็นหนังสือ   
          2. นำหนังสือนั้นไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
          3. หากไม่ทำตามข้อ 1. และข้อ 2. การซื้อขายก็จะตกเป็นโมฆะ

         "การทำเป็นหนังสือ" นั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าต้องมีรูปแบบอย่างไร แต่ก็เข้าใจได้ว่า ก็คือหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินนั้นเอง  ฉะนั้นแล้วการซื้อขายที่ดิน จึงต้องทำเป็นหนังสือหรือสัญญาขึ้นมาเสมอ ดังนั้นเราจะทำการซื้อขายด้วยวาจา อย่างนี้ก็คงไม่สามารถจะทำได้

         "นำไปจดทะเบียน"  ในส่วนนี้ก็เป็นการนำเอาสัญญาซื้อขาย ที่ได้ทำขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไปขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
       
         "พนักงานเจ้าหน้าที่"  ในที่นี้ก็ คือ "เจ้าพนักงานที่ดิน"

         ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า "การซื้อขายที่ดิน" ผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือขึ้นมา โดยผู้ซื้อผู้ขายสามารถตกลงกันในเรื่องของราคา  การจ่ายเงิน  วันที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดิน และการจ่ายค่าธรรมเนียมในการโอนต่างๆ เสียให้เรียบร้อยเสียก่อน  เมื่อได้ทำสัญญากันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำหนังสือสัญญาที่ได้ทำกันนั้นไปที่สำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ พร้อมกับโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ของที่ดินที่ต้องการจะทำการซื้อขายกันนั้น เพื่อขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนการซื้อขายให้  
         เมื่อได้ยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินก็จะตรวจสอบสัญญา และเอกสารต่างๆ ว่าถูกต้องหรือไม่ และถ้าถูกต้อง ก็จะทำการจดทะเบียนสิทธิให้  โดยเจ้าหน้าที่จะแก้ไขรายการสารบาญแสดงกรรมสิทธิ์หลังโฉนด หรือหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพียงแค่นี้ก็เสร็จเรื่องแล้วครับ

         ที่นี้เรามาต่อในส่วนของ "ที่ดินมือเปล่า" ซึ่งก็คือ ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆ เลย แบบนี้จะทำการซื้อขายได้หรือเปล่า ซึ่งก็น่าสงสัยอยู่     คำตอบที่มีอยู่ ก็คือ สามารถทำการซื้อขายกันได้ครับ ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือที่เรียกว่าที่ดินมือเปล่านั้น  ถึงแม้ว่าจะไม่มีเอกสารในการแสดงสิทธิว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน  แต่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินก็มีสิทธิตามกฎหมาย ในการที่จะเข้าครอบครองและใช้ประโยชน์  ซึ่งภาษากฎหมายเรียกว่า "สิทธิครอบครอง"               

         ดังนั้นหากใครเป็นเจ้าของ และได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นจริง ก็จะมีสิทธิในที่ดินนั้น ที่จะเข้าไปทำมาหากิน จะเอาไปขาย หรือจะยกให้ใครก็ได้   ส่วนวิธีการซื้อขายนั้น ก็ทำกันอย่างง่ายๆ แบบชาวบ้านๆ ก็ได้ คือ "เอาตังค์มา  แล้วก็เอาที่ดินไป"  แค่นี้ละครับ ง่ายดี 

   

              ที่มา:   http://www.chawbanlaw.com/bq_law/folder