ความทรงจำ

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ค่าสินไหมทดแทน


              การดำเนินคดีในศาลแบ่งเป็นทางแพ่งหรือทางอาญา คู่กรณีต้องการให้ลงโทษผู้กระทำผิดหรือสร้างความเสียหายแก่ตน คดีแพ่งและคดีอาญามีการลงโทษแตกต่างกัน คือ คดีอาญาจะเน้นการลงโทษที่ร่างกายของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก เช่น โทษประหารชีวิต จำกัดอิสรภาพหรือพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือครอบครัว เป็นต้น ส่วนคดีแพ่งจะเน้นลงโทษโดยการบรรเทาหรือชดใช้ความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด เช่น จ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย หรือ บังคับทางทะเบียน เป็นต้น

             ดังนั้น การเลือกดำเนินคดีทางใดนั้น ผู้ฟ้องคดีต้องพิจารณาก่อนว่า ต้องการให้ลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างไร พฤติกรรมเป็นเหตุให้ฟ้องคดีนั้นเข้าองค์ประกอบทางแพ่งหรือทางอาญา ศาลจะลงโทษไม่เกินกว่าที่ร้องขอหรือไม่ขัดต่อกฎหมาย

              กรณีคดีแพ่งซึ่งจะลงโทษด้วยการให้ชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดนั้น ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องได้และได้รับจริงไม่เท่ากับที่ร้องขอไป หลายคนสงสัยว่าเหตุใดศาลจึงไม่ให้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ร้องขอ ศาลมีอำนาจเพิ่มหรือลดค่าเสียหายได้หรือไม่

คำตอบมีกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่ การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

ข้อบัญญัติเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายกำหนดชัดว่าเป็นอำนาจของศาลจะใช้ดุลพินิจว่าค่าสินไหมทดแทนควรเป็นเท่าไร แต่ต้องไม่เกินกว่าคำฟ้องหรือร้องของโจทก์ อีกทั้งยังบอกด้วยว่าค่าสินไหมทดแทนได้แก่ การคืนทรัพย์สิน การใช้ราคาทรัพย์สิน และ ค่าเสียหายรูปแบบอื่นที่ใช้บังคับชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นซึ่งอาจมิใช่เงินก็ได้ หลายครั้งจักเห็นคำสั่งศาลให้ผู้แพ้คดีต้องจ่ายเงินค่าลงประกาศขอโทษทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆเมื่อแพ้คดีละเมิดหรือหมิ่นประมาท ซึ่งกระทำได้เพราะกฎหมายให้อำนาจแก่ศาลเพื่อชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายจากการกระทำความผิดทางแพ่ง

กรณีการเรียกค่าเสียหายที่หลายคนสงสัยว่า เหตุใดร้องขอไปจำนวนหนึ่ง แต่ศาลอาจให้น้อยกว่าที่ร้องขอก็ได้ คำตอบคือ การพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่วินิจฉัยตามพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง ที่รับฟังจากการพิจารณาคดีซึ่งโจทก์ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ได้รับความเสียหายอย่างไร มากน้อยเพียงใด ตัวเลขที่ร้องขอสมเหตุสมผลกับข้อเท็จจริงอย่างไร

                ส่วนจำเลยมีสิทธิ์โต้แย้งค่าเสียหายนี้ได้ด้วยการพิสูจน์ข้อเท็จจริงหักล้างกับโจทก์ ศาลมีหน้าที่ให้ความยุติธรรมแก่โจทก์และจำเลยอย่างเสมอภาค หากศาลเห็นว่าโจทก์ร้องขอมากเกินสมควร ย่อมมีสิทธิ์ลดจำนวนเงินลงได้ หลายครั้งจึงมักเห็นว่าโจทก์ร้องขอค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท แต่ศาลอาจตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเพียงหลักแสนบาทก็ได้ถ้าเชื่อว่าความเสียหายของโจทก์ไม่มากอย่างที่ยื่นขอไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐาน  พิสูจน์ของโจทก์และจำเลยเป็นหลัก ส่วนใหญ่คดีแพ่งนั้นโจทก์มักเรียกค่าเสียหายจำนวนสูงไว้ก่อน เพราะศาลจะเป็นผู้กำหนดค่าเสียหายในคดีดังกล่าว ข้อสังเกตสำหรับการฟ้องคดีแพ่งคือ ยิ่งผู้เสียหายเป็นคนหรือบริษัทมีชื่อเสียงมากเพียงใด ค่าเสียหายที่จักได้รับหากชนะคดีต้องสูงขึ้นไปด้วยเหตุมูลค่าของชื่อเสียงนั่นเอง สิ่งพึงระลึกให้มั่นในใจคือ จงหลีกเลี่ยงการมีคดีในศาลไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา เพราะนอกจากแพ้คดีแล้วต้องจ่ายค่าสินไหมจำนวนสูง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะท่านต้องจ่ายค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมดำเนินคดีในศาล ค่าใช้จ่ายจิปาถะ จนกว่าคดีสิ้นสุด สิ่งสุดท้ายที่มักลืมคิดถึง คือ ค่าเสียเวลาไปขึ้นศาล ///.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น